ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยฉุดสัญญาทองคำร่วงหลุดจากระดับ 2,000 ดอลลาร์
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -6.34 เหรียญ หรือ -0.32% อยู่ที่ระดับ 1,989.86 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 8.50 เหรียญ หรือ 0.42% ปิดที่ 1,996 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 0.60 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 24.876 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 7.80 เหรียญ หรือ 0.71% ปิดที่ 1,106 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 930.04 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 2.02 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 12.4 ตัน
- นักวิเคราะห์จากบริษัท GoldSeek.com แสดงความเห็นว่า การที่สัญญาทองคำยืนเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาและจนถึงต้นสัปดาห์นี้ อาจทำให้นักลงทุนเทขายเพื่อทำกำไร เราคาดว่าตลาดทองคำจะเคลื่อนตัวในกรอบแคบ ๆ และปัจจัยพื้นฐานตลาดที่ยังคงแข็งแกร่งจะช่วยพยุงราคาทองคำ
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.42 จุด หรือ -0.41% มาอยู่ที่ระดับ 101.4 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 3.452% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.0 % มาอยู่ที่ระดับ 3.951% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.5%
- นักวิเคราะห์โกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า ธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.และอาจจะขึ้นอีกครั้งหลังจากนั้น ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอยู่ที่ 10.1% ในเดือนมี.ค.
- นายอุเอดะไม่ได้ส่งสัญญาณว่า บีโอเจจะปรับนโยบายการเงินในเร็ว ๆ นี้ และการที่เขาทำแบบนี้ก็ส่งผลให้เทรดเดอร์ปรับเลื่อนเวลาที่คาดว่าบีโอเจจะปรับรายละเอียดในนโยบายการเงินออกไป โดยเลื่อนออกไปสู่เดือนมิ.ย.หรือเดือนก.ค. ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างสัญญาสวอปอัตราดอกเบี้ยระยะ 10 ปีที่กำหนดโดยตลาด กับอัตราผลตอบแทน JGB อายุ 10 ปี ได้ปรับลดลงสู่ระดับที่แคบที่สุดในรอบ 8 เดือนในช่วงนี้ โดยส่วนต่างดังกล่าวหดแคบลงเกือบ 0.40% หลังจากที่เคยแตะระดับที่กว้างที่สุดในรอบ 25 ปีในเดือนม.ค.
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันวันที่ 2 เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก เนื่องจากผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทไมโครซอฟท์และอัลฟาเบทเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,301.87 จุด ลดลง 228.96 จุด หรือ -0.68%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,055.99 จุด ลดลง 15.64 จุด หรือ -0.38%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,854.35 จุด เพิ่มขึ้น 55.19 จุด หรือ +0.47%
- นักลงทุนยังกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐอาจจะไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยกู้วิกฤตของ FRB หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐกำลังพิจารณาปรับลดการประเมิน FRB ซึ่งจะจำกัดความสามารถของ FRB ในการกู้ยืมเงินจากโครงการของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- หุ้น FRB ปิดตลาดร่วงลง 29.75% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเมื่อพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2566 ราคาหุ้น FRB ได้ทรุดตัวลงถึง 96.1% ส่วนหุ้นธนาคารรายอื่น ๆ ที่ร่วงลงเมื่อคืนนี้ได้แก่ หุ้นเจพีมอร์แกน ปรับตัวลง 1.77% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 1.39% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 2.17%
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและเป็นดัชนีบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวลง 0.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.1% หลังจากดิ่งลง 0.7% ในเดือนก.พ.
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเตือนว่า หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลและนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับหายนะ และจะยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้า
- ธนาคารโลกเปิดเผยว่า จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศที่มั่งคั่งและประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้นจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นต้องพึ่งพาการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากประเทศที่ยากจนกว่า และกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่ดีกว่านี้
- ราคาบ้านในฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 3 โดยได้แรงหนุนจากการที่ฮ่องกงกลับมาเปิดพรมแดนกับจีนอีกครั้ง และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ในราคาที่น่าดึงดูดใจ ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาด
- MAS ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งตัวเลข GDP ของสิงคโปร์ที่อ่อนแอลงในไตรมาส 1 ปีนี้ ธนาคารกลางเห็นสมควรที่จะคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินติดต่อกันในการประชุม 5 ครั้งนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 โดยธนาคารกลางเชื่อว่า การใช้นโยบายคุมเข้มหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมานั้นจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้
- แบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้ในปี 2566 ลงสู่ระดับ 1.4% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยระบุว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังคงเผชิญกับภาวะขาลงของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation) ของผู้บริโภคเกาหลีใต้ลดลงในเดือนเม.ย.แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมนั้นเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน
- ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (สแตนชาร์ต) ของอังกฤษเปิดเผยว่า กำไรก่อนหักภาษีในไตรมาส 1/2566 ซึ่งตรงกับเดือนม.ค.-มี.ค. พุ่งขึ้น 21% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นช่วยหนุนรายได้จากการบริหารเงินสดและยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ารายย่อย โดยสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดเป็นธนาคารที่มุ่งให้ความสนใจไปที่ตลาดเกิดใหม่และรายได้ส่วนใหญ่มาจากเอเชีย
- ตัวเลขเงินเฟ้อในไตรมาส 1/2566 ของออสเตรเลียชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 33 ปี เนื่องจากค่าครองชีพขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะเผชิญแรงกดดันน้อยลงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ (26 เม.ย.) โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และผลกระทบของการที่ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 2.77 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 74.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 3.08 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 77.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- รัสเซียแทบไม่เห็นผลลัพธ์จากข้อตกลงกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มุ่งช่วยเหลือการส่งออกธัญพืชและปุ๋ยของรัสเซีย และโบ้ยความผิดให้กับชาติตะวันตกที่ทำให้เกิดการหยุดชะงัก
- ประธานาธิบดียุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้จะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐสอดแนมเกาหลีใต้อย่างแน่นอน โดยการลอบดักฟังพันธมิตรของสหรัฐนั้นถูกเปิดโปงต่อสาธารณชน หลังเอกสารลับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐรั่วไหลบนโลกออนไลน์
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าที่ 34.12 บาทต่อดอลลาร์ โดยกรอบแนวรับที่ 34.00 บาท แนวต้าน 34.30 บาท
- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมี.ค.66 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 27,654 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.2% การนำเข้า มีมูลค่า 24,935 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,718 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง