ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -14.68 เหรียญ หรือ -0.72% อยู่ที่ระดับ 2,014.71 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 16.60 เหรียญ หรือ 0.81% ปิดที่ 2,020.50 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.234 เหรียญ หรือ 4.81% ปิดที่ 24.424 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.10 เหรียญ หรือ 1.26% ปิดที่ 1,105 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.15 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 937.84 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ซื้อสุทธิ 11.56 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 20.2 ตัน
- ศูนย์วิจัยทองคำ ระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน พ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 65.30 เพิ่มขึ้น 0.16 จุด หรือคิดเป็น 0.24% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.66 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.14 จุด โดยปัจจัยหนุนมาจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สถานการณ์สถาบันการเงินของสหรัฐฯ ความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย และนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.68 จุด หรือ 0.67% มาอยู่ที่ระดับ 102.1 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.06 % มาอยู่ที่ระดับ 3.388% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 3.901% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.51%
- สัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ และขณะนี้สะท้อนถึงโอกาสน้อยกว่า 10% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนจากช่วง 5.00%-5.25% ในปัจจุบันในการประชุมในวันที่ 13-14 มิ.ย. โดยมีการคาดการณ์สูงที่เฟดจะหยุดชั่วคราว ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดได้ปรับตัวรับโอกาสมากถึง 25% ที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้า
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดในวันพฤหัสบดี โดยตลาดถูกกดดันจากการดิ่งลงของราคาหุ้นวอลท์ ดิสนีย์ หลังจากบริษัทเปิดเผยจำนวนสมาชิกดิสนีย์พลัส (Disney+) ลดลงอย่างมากในไตรมาส 1 ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐร่วงลง หลังจากแพคเวสต์ แบงคอร์ป เปิดเผยยอดเงินฝากลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,309.51 จุด ลดลง 221.82 จุด หรือ -0.66%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,130.62 จุด ลดลง 7.02 จุด หรือ -0.17%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,328.51 จุด เพิ่มขึ้น 22.06 จุด หรือ +0.18%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมี.ค.
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 22,000 ราย สู่ระดับ 264,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 245,000 ราย
- นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก ระบุว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายของกลุ่ม G7 จำเป็นต้องตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาหนี้สินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเสริมว่า การเติบโตที่เชื่องช้าของประเทศกำลังพัฒนามีผลกระทบไปทั่วโลกในแง่ของความทุกข์ยากของมนุษย์และในแง่ของกระแสการย้ายถิ่นฐาน
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดนพยายามกดดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันเร่งปรับเพิ่มเพดานหนี้ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้และฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
- นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายพรรครีพับลิกันปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ หากฝ่ายพรรคเดโมแครตไม่ยอมปรับลดงบประมาณรายจ่าย
- ภาวะชะงักงันของการเจรจาเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกพยายามหาแนวทางที่จะพยุงเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง
- ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ระบุว่า ความขัดแย้งเรื่องเพดานหนี้และแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ อาจสร้างความตื่นตระหนกทางการเงิน ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เหมือนกับวิกฤตการเงินปี 2551-2552 ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- นักลงทุนจับตาการหารือเรื่องเพดานหนี้รอบ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ หลังการเจรจาเมื่อวันอังคารไม่ประสบความคืบหน้า โดยนายแมคคาร์ธีระบุว่าการเพิ่มเพดานหนี้จะต้องแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลยอมปรับลดงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ปธน.ไบเดนไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
- รัฐบาลจีนได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภทตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่รัฐบาลจีนต้องการให้ต้นทุนในการระดมเงินทุนของภาคธนาคารปรับตัวลงเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยสั่งให้ธนาคารรายใหญ่ของรัฐ 4 แห่งซึ่งรวมถึงธนาคารอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า สามารถเสนอเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่เกิน 0.10% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายอื่น ๆ ถูกขอให้ควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่เกิน 0.20%
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนเม.ย. ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือนเม.ย.ของจีนขยับขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปีหรือนับตั้งแต่ต้นปี 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนมี.ค.ส่วนดัชนี PPI เดือนเม.ย.ปรับตัวลง 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลง 3.2% หลังจากที่ปรับลง 2.5% ในเดือนมี.ค.
- การส่งออกของเกาหลีใต้ลดลง 10.1% ในช่วง 10 วันแรกของเดือนพ.ค. เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเกาหลีใต้ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนและสหรัฐ
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.69 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 70.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 74.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G7 จะพบปะเพื่อหารือกันเป็นเวลา 3 วัน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในภาคการธนาคาร รวมทั้งประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการหาทางยุติการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน และจัดการกับความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานโลก
- โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาวิจารณ์สหรัฐที่กล่าวหาว่าจีนเก็บข้อมูลจีโนม โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูลความจริง พร้อมกล่าวว่า สหรัฐต่างหากที่รวบรวมและใช้ข้อมูลจีโนมอย่างกว้างขวาง
- สินค้าจากสหภาพยุโรป (EU) ที่ตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยระหว่างการขนส่งไปยังกลุ่มพันธมิตรของรัสเซีย โดยเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกเชื่อว่า สินค้าที่สูญหายไปเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ช่วยต่อชีวิตเศรษฐกิจในยามภาวะสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด
- เกาหลีใต้ได้ลดระดับวิกฤตของโรคโควิด-19 ลงในเมื่อวานนี้ และตั้งแต่เดือนมิ.ย. ผู้ติดเชื้อจะไม่จำเป็นต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 7 วันอีกต่อไป ซึ่งเป็นการยกเลิกหนึ่งในมาตรการโควิดของประเทศที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่มาตรการ ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขยังคงแนะนำให้ประชาชนผู้ติดเชื้อกักตัวเป็นเวลา 5 วัน แต่ไม่ได้บังคับแต่อย่างใด
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.83 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.72 บาทต่อดอลลาร์
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนเม.ย.66 อยู่ที่ระดับ 55.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.63
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองแนวโน้มหนี้ครัวเรือนกำลังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป หลังเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดปัญหาหนี้ทั้งในด้านของจำนวน และสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ลง
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง