• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2566

    24 พฤษภาคม 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันอังคาร เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยฉุดตลาด


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 3.49 เหรียญ หรือ 0.18% อยู่ที่ระดับ 1,974.7 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.70 เหรียญ หรือ 0.14% ปิดที่ 1,974.50 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 23.70 เซนต์ หรือ 0.99% ปิดที่ 23.624 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 19.70 เหรียญ หรือ 1.83% ปิดที่ 1,057.60 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.6 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 941.29 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ซื้อสุทธิ 15.01 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 23.65 ตัน


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.27 จุด หรือ 0.26% มาอยู่ที่ระดับ 103.54 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 3.696% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 4.339% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.64%


  • นายนีล แคชคารี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนิอาโปลิสกล่าวว่า เขามีความเห็นก้ำกึ่งต่อประเด็นที่ว่า เขาควรจะโหวตให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หรือว่าเขาควรจะโหวตให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และเขากล่าวเสริมว่า "เราอาจจะมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 6%" เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%


  • แมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโกกล่าวว่า เร็วเกินไปที่จะระบุว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้หรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อมูลอย่างมาก ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรในเดือนมิ.ย. หรือจะทำอะไรในช่วงที่เหลือของปีนี้


  • สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสกล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีอาจจะแตะระดับสูงสุดภายในปลายฤดูร้อนนี้ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าในขณะนี้ก็คือ อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าระดับที่แท้จริงต่อไปเป็นเวลานานเท่าใด


  • สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และผู้ว่าการธนาคารกลางสเปนกล่าวว่า อีซีบียังจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก และจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในเชิงจำกัดต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายระยะกลางที่ 2%


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลว่าสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,055.51 จุด ลดลง 231.07 จุด หรือ -0.69%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,145.58 จุด ลดลง 47.05 จุด หรือ -1.12% 
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,560.25 จุด ลดลง 160.53 จุด หรือ -1.26%


  • นักวิเคราะห์จากบริษัท John Hancock Investment Management กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความผันผวนอย่างหนักก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตายการผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. หรือ “X-date” ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลกลางสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามพันธกรณีทางกฎหมาย


  • นักวิเคราะห์จาก UBS Global Wealth Management คาดการณ์ว่า ดัชนี S&P500 จะร่วงลงกว่า 10% หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อน X-date


  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.1% สู่ระดับ 683,000 ยูนิตในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 665,000 ยูนิต จากระดับ 656,000 ยูนิตในเดือนมี.ค.


  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


  • นักยุทธศาสตร์การลงทุนบางรายแสดงความกังวลว่า ตลาดหุ้นสหรัฐอาจจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากความขัดแย้งระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันในเรื่องการปรับขึ้นเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นยังคงปรับขึ้นในช่วงนี้ก็ตาม ทั้งนี้ ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 9% จากช่วงต้นปีนี้ และเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2022 


  • การเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้รอบใหม่ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวานนี้ โดยนายแมคคาร์ธีกล่าวว่า การเจรจาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้


  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อส่งผลลบต่อความรู้สึกมั่นคงทางการเงินในภาคครัวเรือนสหรัฐ โดยครัวเรือนหลายแห่งระบุว่า ครัวเรือนของตนได้ปรับลดเงินออมลงเพื่อที่จะได้มีเงินพอใช้จ่าย หรือหันไปซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐเคยพุ่งขึ้นแตะ 9.1% เมื่อเทียบรายปีในเดือนมิ.ย. 2022 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 1981 หรือสูงที่สุดในรอบ 40 ปี และอยู่ที่ระดับ 4.9% ในปัจจุบัน ซึ่งยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% เป็นอย่างมาก


  • ธนาคารเจพีมอร์แกน กล่าวว่า วิกฤตการณ์แห่ถอนเงินฝากหรือ bank run เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคาร 3 แห่งของสหรัฐล้มละลายในปีนี้ แต่ขณะนี้มีความกังวลระลอกใหม่กำลังก่อตัวขึ้น นั่นคือตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial real estate) ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำปัญหามาสู่ภาคธนาคาร


  • ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการค้าในอนาคต พร้อมเสริมว่า WTO จะมีบทบาทสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกด้านการค้าทางดิจิทัลระดับโลก


  • ผลสำรวจพบว่า การขยายตัวทางธุรกิจของยูโรโซนยังคงฟื้นตัวไว แต่ก็ชะลอตัวน้อยกว่าคาดในเดือนนี้ เนื่องจากภาคบริการชะลอตัวลงเล็กน้อย และภาคการผลิตตกต่ำมากขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ลดลงสู่ระดับ 53.3 ในเดือนพ.ค. จาก 54.1 ในเดือนเม.ย. แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 50 ที่แบ่งแยกระหว่างการขยายตัวและการหดตัว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 53.5 นอกจากนี้ดัชนี PMI สำหรับภาคบริการลดลงสู่ระดับ 55.9 ในเดือนพ.ค. จากระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 56.2 ในเดือนเม.ย. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 55.6 ขณะที่ดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 44.6 จาก 45.8 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค.2020


  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ โดยปรับขึ้นคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว แต่ก็เตือนด้วยว่า แนวโน้มยังคงย่ำแย่ โดยไอเอ็มเอฟคาดว่า จีดีพีของอังกฤษจะขยายตัว 0.4% ในปีนี้ หลังจากที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะหดตัวลง 0.3% โดยแนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงการฟื้นตัวไวอย่างไม่คาดคิดของภาวะอุปสงค์ ซึ่งได้แรงหนุนบางส่วนจากการขึ้นค่าจ้างเร็วกว่าปกติ, การร่วงลงของต้นทุนพลังงาน, ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดีขึ้น และการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก


  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ วางแผนที่จะเข้าพบกับ หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษ หรือ CMA ซึ่งได้ให้คำมั่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะยกระดับการตรวจสอบราคาอาหารสด หลังจากที่ราคาอาหารพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 46 ปี ในเดือนมี.ค. เนื่องจากราคาอาหารในอังกฤษพุ่งสูงขึ้น 19.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุด นับตั้งแต่เดือนส.ค. 2520 ส่วนในเดือนเม.ย. อัตราเงินเฟ้อจากราคาของชำ (grocery inflation) อยู่ที่ 17.3%


  • กิจกรรมทางธุรกิจของเยอรมนีขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนพ.ค. โดยได้แรงหนุนเป็นพิเศษจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ซึ่งช่วยชดเชยการปรับตัวลงของภาคการผลิตในประเทศ ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการ ปรับตัวขึ้นแตะ 54.3 ในเดือนพ.ค. จาก 54.2 ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 53.5 และถือเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี


  • กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในเดือนพ.ค. ขณะที่ภาคบริการขยายตัวแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภาวะฟื้นตัวหลังยกเลิกการบังคับใช้มาตรการสกัดโรคโควิด-19 ช่วยสนับสนุนภาวะทางธุรกิจ


  • อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของฮ่องกงพุ่งขึ้น 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.7%


  • ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ระบุว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของสิงคโปร์ทรงตัวที่ 5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี


  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า หนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีใต้ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นได้กดดันให้ความต้องการเงินกู้ลดลง


  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีใต้ (CCSI) เดือนพ.ค. 2566 ปรับตัวขึ้นสู่สูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 98.0 จากระดับ 95.1 ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะแตะระดับ 93.4


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร ขานรับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียออกมาเตือนนักเก็งกำไรที่ขายชอร์ตในตลาด


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.19% ปิดที่ 72.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 85 เซนต์ หรือ 1.12% ปิดที่ 76.84 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • ตลาดได้แรงหนุนจากรายงานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 6.799 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 6.398 ล้านบาร์เรล ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค. โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น และเป็นปัจจัยหนุนสัญญาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 2%


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (EU) ต่างเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันวาระต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐ แม้ว่าจะยังเหลือเวลาอีกมากกว่า 1 ปี ก่อนจะถึงกำหนดการเลือกตั้งก็ตาม


  • กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เผยว่า สหรัฐมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับกรณีที่จีนออกคำสั่งห้ามอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีนซื้อชิปหน่วยความจำจากบริษัทไมครอน เทคโนโลยีของสหรัฐ พร้อมระบุว่าสหรัฐกำลังร่วมมือกับรัฐบาลจีนเพื่อให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้


  • ติ๊กต๊อก อิงค์ (TikTok Inc) ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีต่อรัฐมอนแทนาของสหรัฐ หลังรัฐมอนแทนาออกกฎหมายเพื่อสั่งห้ามติ๊กต๊อกจากการให้บริการในรัฐมอนแทนาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยติ๊กต๊อกเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไบต์แดนซ์จากจีน


  • อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการท่องเที่ยวของกลุ่ม G20 ในแคชเมียร์ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและการคัดค้านจากจีน


  • กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า แถลงการณ์เกี่ยวกับนิวเคลียร์ของกลุ่ม G7 มีจุดมุ่งหมายเดียวคือเพื่อการกดดันทางจิตวิทยา การทหาร และการเมืองต่อรัสเซียและจีน ซึ่งทางกลุ่มได้เรียกร้องให้รัสเซียและจีนแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้นกว่านี้ เช่นเดียวกับที่สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศสดำเนินการ

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดแข็งค่าที่ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ โดยกรอบแนวรับที่ 34.50 บาท แนวต้าน 34.75 บาท

 



ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com