ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี และเป็นการปิดในแดนลบติดต่อกัน 4 วันทำการ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยฉุดตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -17.15 เหรียญ หรือ -0.88% อยู่ที่ระดับ 1,939.96 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 20.90 เหรียญ หรือ 1.06% ปิดที่ 1,943.70 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 33 เซนต์ หรือ 1.42% ปิดที่ 22.91 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 3.20 เหรียญ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,026.30 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 941.29 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ซื้อสุทธิ 15.01 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 23.65 ตัน
- นักวิเคราะห์จากบริษัท CMC Markets UK กล่าวว่า “ดอลลาร์แข็งค่าติดต่อกันหลายวัน เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้เครดิตพินิจ (Rating Watch) ของสหรัฐเป็นเชิงลบ และเตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ AAA เราคาดว่าหากดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจฉุดราคาทองคำดิ่งลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์”
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.38 จุด หรือ 0.37% มาอยู่ที่ระดับ 104.23 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 3.821% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.16 % มาอยู่ที่ระดับ 4.537% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.72%
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 2-3 พ.ค.โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ความจำเป็นในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นเริ่มลดลง โดยกรรมการหลายคนกล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น อาจเป็นครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ดี มีกรรมการเฟดบางคนที่ยังคงเห็นถึงความจำเป็นของการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงปรากฏให้เห็น
- นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ขณะที่เส้นโค้งผลตอบแทนที่พลิกกลับด้านในบริบทของเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพมักจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่เลวร้าย แต่การพลิกกลับด้านของเส้นโค้งผลตอบแทนพันธบัตรในปัจจุบันอาจจะบ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่ดีขึ้นในอนาคต
- นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบีโอเจก็คือการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยบีโอเจจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในขณะนี้ "อย่างอดทน" ต่อไป
- หนึ่งในคณะทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่น คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยุติการใช้นโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในปีนี้ หากพบว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารทั่วโลกนั้น เริ่มลดน้อยลง นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่าบีโอเจจะต้องชะลอการปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จากปัจจุบันที่ระดับ -0.1% จนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่าค่าแรงจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ บีโอเจอาจจะยกเลิกเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 0.5% โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากเกินไป
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามความคาดหมาย พร้อมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มลดต่ำลง
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี โดยนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้นกว่า 200 จุด หลังจากหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) พุ่งขึ้นขานรับผลประกอบการที่ดีเกินคาด และเป็นปัจจัยหนุนหุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ที่เป็นผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบท
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,764.65 จุด ลดลง 35.27 จุด หรือ -0.11%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,151.28 จุด เพิ่มขึ้น 36.04 จุด หรือ +0.88%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,698.09 จุด พุ่งขึ้น 213.93 จุด หรือ +1.71%
- คริสตาลินา จอร์จิเอวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า เธอมั่นใจว่า สหรัฐจะหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ และดอลลาร์สหรัฐอาจจะยังคงเป็นสกุลเงินในทุนสำรองของโลกต่อไป แม้มีการหารือกันมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศต่างๆที่จะลดการพึ่งพาดอลลาร์ เราไม่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกับทุนสำรองดอลลาร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ดอลลาร์เป็นสกุลเงินทุนสำรอง เพราะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และความแข็งแกร่งของตลาดทุน
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้เครดิตพินิจ (Rating Watch) ของสหรัฐเป็น “เชิงลบ” พร้อมระบุว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ AAA เนื่องจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งอาจจะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
- สมาคมผู้ผลิตอุปกรณ์ (AEM) เปิดเผยว่า ความล้มเหลวในการยุติทางตันเพื่อขยายเพดานหนี้ของสหรัฐก่อนกำหนดนั้น อาจสร้างความท้าทายต่อธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูง เช่น ซัพพลายเออร์ในภาคอุตสาหกรรม
- เศรษฐกิจของเยอรมนีหดตัวเล็กน้อยในไตรมาส 1/2566 เทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ทำให้เยอรมนีเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขั้นสุดท้ายของเยอรมนี หดตัวลง 0.3% ในไตรมาส 1/2566 หลังจากที่หดตัว 0.5% ในไตรมาส 4/2565 โดยปกติแล้วเศรษฐกิจถดถอยหมายถึงการที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยติดต่อกัน 2 ไตรมาส
- ทางการสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2566 หดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสวนทางกับในไตรมาส 4/2565 ที่ขยายตัว 0.1% เนื่องจากผลกระทบของภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของสิงคโปร์ ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่หดตัวลงในไตรมาส 1 นั้น ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 หดตัวลงอีก
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี หลังจากรัสเซียประกาศขวางการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 มิ.ย.
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 2.51 ดอลลาร์ หรือ 3.38% ปิดที่ 71.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 2.10 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 76.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียไม่สนับสนุนให้มีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 4 มิ.ย. เนื่องจากเมื่อเดือนที่แล้ว สมาชิกบางประเทศของโอเปกพลัสเพิ่งประกาศปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ ทั้งนี้ ในการประชุมเดือนเม.ย. ซาอุดีอาระเบียประกาศปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจำนวน 500,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่โอเปกพลัสยืนยันตามมติในเดือนต.ค.2565 ในการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า กระสุนปืนใหญ่หลายแสนนัดของเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการขนส่งไปยังยูเครนโดยผ่านเส้นทางสหรัฐ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้พยายามปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้เกาหลีใต้จัดส่งอาวุธให้กับยูเครน
- ไมโครซอฟท์ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากสหรัฐเตือนว่า กลุ่มแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนได้ทำการรุกล้ำเข้าสู่ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการติดต่อสื่อสารที่สำคัญในสหรัฐ เพื่อขัดขวางการสื่อสารในกรณีที่เกิดวิกฤตระหว่างสหรัฐและเอเชียในอนาคต
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
- กระทรวงพาณิชย์คงเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโต 1-2% โดยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อขยายตลาดและเพิ่มศักยภาพสินค้าส่งออกไทย
- นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนรออยู่อีกมาก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และค่าเงินบาทที่ผันผวน แต่ก็ยังเห็นโอกาสในอีกหลายๆ ตลาดที่มีศักยภาพเช่นกัน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง