• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2566

    2 มิถุนายน 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


 

  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 14.04 เหรียญ หรือ 0.72% อยู่ที่ระดับ 1,976.84 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 13.40 หรือ 0.68% ปิดที่ 1,995.50 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 1.70% ปิดที่ 23.987 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.10 เหรียญ หรือ 1.11% ปิดที่ 1,010.10 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.45 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 938.11 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 1.45 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 20.47 ตัน


  • ตลาดทองคำยังได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาสนับสนุนการระงับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่งรวมถึงนายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ว่าที่รองประธานเฟด โดยนายเจฟเฟอร์สันกล่าวว่า การระงับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.จะช่วยให้คณะกรรมการเฟดเห็นข้อมูลมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.58 จุด หรือ -0.56% มาอยู่ที่ระดับ 103.56 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 3.601% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 4.345% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.74% 


  • ซีอีโอบริษัทแบล็คร็อค ซึ่งเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมแรงกดดันด้านราคา โดยคาดว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ แต่เขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย โดยกล่าวว่า ถ้าเกิดภาวะถดถอย ก็อาจจะเป็นการถดถอยเล็กน้อย


  • นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานเฟด กล่าวว่า การตัดสินใจใดๆของเฟดที่จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการประชุมที่กำลังจะมาถึง ไม่ควรจะถูกตีความหมายว่า เฟดเสร็จสิ้นการคุมเข้มนโยบายการเงินแล้ว


  • หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy) เนื่องจาก BOJ มีแนวโน้มที่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ อย่างยั่งยืน


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ในสภาคองเกรส รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,061.57 จุด เพิ่มขึ้น 153.30 จุด หรือ +0.47%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,221.02 จุด เพิ่มขึ้น 41.19 จุด หรือ +0.99%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,100.98 จุด เพิ่มขึ้น 165.70 จุด หรือ +1.28%


  • ข้อมูลด้านแรงงานยังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนการคาดการณ์เฟดคงอัตราดอกเบี้ย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (ULC) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.2% ในไตรมาส 1 ซึ่งชะลอตัวลงจากการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่ามีการขยายตัว 6.3%


  • นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 253,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 3.4% ในเดือนเม.ย.


  • รายงาน Beige Book บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐดูเหมือนจะอยู่ในภาวะทรงตัวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่การจ้างงานชะลอการเติบโต, อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง และแนวโน้มธุรกิจในระยะใกล้ตกต่ำลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้


  • สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายการขยายเพดานหนี้ ด้วยคะแนนเสียง 314 ต่อ 117 เสียง ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่าพ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง” (Fiscal Responsibility Act) จะส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ลงนามเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยกระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องเสร็จสิ้นก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิ.ย. มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์


  • หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มก้อนนั้นถูกถ่วงด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตชะลอตัวลง หลังประเทศต่าง ๆ ในแถบตะวันตกเคลื่อนไหวเพื่อลดการพึ่งพาจีน โดยในเดือนที่ผ่านมา กลุ่ม G7 ประกาศสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญและลดความเสี่ยง ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างจีนและตะวันตก


  • บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เปิดเผยว่า ยอดเงินฝากของธนาคารในสหรัฐลดลง 4.72 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.5% ในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ FDIC เริ่มบันทึกข้อมูลในปี 2527 อันเนื่องมาจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)


  • กิจกรรมภาคการผลิตของยูโรโซนร่วงลงมากขึ้นในเดือนพ.ค. เนื่องจากภาวะอุปสงค์ดิ่งลง แม้โรงงานปรับลดราคาลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนก.ย.2020 ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่มืดมน ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นปลายของเอชซีโอบี ซึ่งรวบรวบโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ลดลงสู่ระดับ 44.8 ในเดือนพ.ค. จาก 45.8 ในเดือนเม.ย.


  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานว่า การใช้จ่ายด้านทุน (capital spending) ซึ่งเป็นมาตรวัดการลงทุนของภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 2.4% สู่ระดับ 3.61 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ซึ่งมากกว่าที่ธนาคารรายใหญ่หลายแห่งของออสเตรเลียคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1% – 1.9% และถือเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2558


  • กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในเดือนพ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ รวมถึงการคาดการณ์เชิงบวกในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 50.6 ในเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้วและถือเป็นอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบหนึ่งปี โดยระดับ 50 ขึ้นไปบ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว


  • เกาหลีใต้เปิดเผยว่า ยอดชอปปิงออนไลน์ของเกาหลีใต้เดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขานรับอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับการท่องเที่ยวและกิจกรรมกลางแจ้ง ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการต้านโควิด-19


  • กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนพ.ค.ร่วงลง 15.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.224 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 8 เนื่องจากอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวลง อันเป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก


  • นักวิเคราะห์ของธนาคารเจพีมอร์แกนปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียในปีงบประมาณ 2567 อีก 0.50% สู่ระดับ 5.5% แต่เตือนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและภาวะการเงินที่ตึงตัวจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจของอินเดีย


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี ขานรับข่าวสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันอาทิตย์นี้


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.01 ดอลลาร์ หรือ 2.95% ปิดที่ 70.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.68 ดอลลาร์ หรือ 2.31% ปิดที่ 74.28 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล


  • นักลงทุนจับตาผลการประชุมโอเปกพลัสในวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย.นี้ โดยก่อนหน้านี้ตลาดน้ำมันถูกกดดันจากการที่นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียไม่สนับสนุนให้มีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 4 มิ.ย. เนื่องจากเมื่อเดือนที่แล้ว สมาชิกบางประเทศเพิ่งประกาศปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • รัฐบาลไต้หวันและสหรัฐระบุว่า ไต้หวันและสหรัฐจะลงนามในข้อตกลงฉบับแรกภายใต้กรอบการเจรจาการค้าใหม่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐในช่วงที่มีความขัดแย้งกับจีนเพิ่มมากขึ้นในประเด็นกรรมสิทธิ์เหนือเกาะไต้หวันของจีน


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด  34.62 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากเมื่อวานที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ คาดค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์


  • รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 พ.ค. 66 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 10,378,457 คน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วกว่า 428,000 ล้านบาท โดยประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 1,606,373 คน จีน 1,098,604 คน รัสเซีย 734,995 คน เกาหลีใต้ 627,760 คน และอินเดีย 583,319 คน

 


ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com