ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -23.13 เหรียญ หรือ -1.18% อยู่ที่ระดับ 1,940.13 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 23.10 เหรียญ หรือ 1.17% ปิดที่ 1,958.40 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.10 เซนต์ หรือ 0.60% ปิดที่ 23.529 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.10 เหรียญ หรือ 1.36% ปิดที่ 1,024.60 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 3.46 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 934.65 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 4.91 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 17.01 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.05 จุด หรือ -0.05% มาอยู่ที่ระดับ 104.07 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.14 % มาอยู่ที่ระดับ 3.797% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 4.558% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.76%
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีและ 10 ปีพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ หลังจากธนาคารกลางแคนาดาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้เช่นกัน
- ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.10% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับ 3.85%
- อิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีอาจจะใช้เวลานานกว่าปกติในการส่งผ่านผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และผลกระทบดังกล่าวอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ปิดในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหุ้นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รวมทั้งความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,665.02 จุด เพิ่มขึ้น 91.74 จุด หรือ +0.27%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,267.52 จุด ลดลง 16.33 จุด หรือ -0.38%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,104.89 จุด ลดลง 171.52 จุด หรือ -1.29%
- สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มนักวิเคราะห์ว่า การกู้เงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐนั้นเสี่ยงที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อระบบธนาคารของสหรัฐ เนื่องจากการออกพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณมากจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งทะยานขึ้น จนประชาชนแห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคาร เพื่อนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้ การผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าวทำให้สหรัฐสามารถกู้ยืมเงินได้เพิ่มมากขึ้น โดยกระทรวงการคลังสหรัฐจะหาวิธีเพิ่มพูนกระแสเงินสดในคลัง หลังจากแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2560 ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
- เจพีมอร์แกนประมาณการว่า สหรัฐจะจำเป็นต้องกู้เงิน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นภายในสิ้นปี 2566 โดยจะออกพันธบัตรรัฐบาลสุทธิ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ครายงานว่า แรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานลดระดับลงอีกครั้งในเดือนพ.ค. หลังจากแรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานเคยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยเฟดสาขานิวยอร์คระบุอีกด้วยว่า แรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในทุกภูมิภาคทั่วโลกในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ดัชนีแรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกร่วงลงจาก -1.35 ในเดือนเม.ย. สู่ -1.71 ในเดือนพ.ค.โดยการร่วงลงของดัชนีในเดือนพ.ค.เป็นผลมาจากการที่ดัชนีได้รับแรงหนุนน้อยลงจากปริมาณงานคั่งค้างในอังกฤษ และจากระยะเวลาจัดส่งสินค้าในไต้หวัน อย่างไรก็ดี ดัชนีได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้างจากปริมาณงานคั่งค้างในยูโรโซน และจากระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าในยูโรโซน
- ยอดส่งออกของจีนร่วงลง 7.5% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากความต้องการสินค้าจีนในตลาดโลกชะลอตัวลงซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ ยอดส่งออกเดือนพ.ค.ยังร่วงลงรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.4% ส่วนยอดนำเข้าเดือนพ.ค.ลดลง 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 8% และเป็นการปรับตัวลงน้อยกว่าในเดือนเม.ย.ที่ลดลง 7.9%
- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 2.4% และชะลอตัวลงจากไตรมาส 4/2565 ที่มีการขยายตัว 2.7%
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มภาวะน้ำมันตึงตัว หลังซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งช่วยบดบังปัจจัยลบจากรายงานสต็อกเชื้อเพลิงของสหรัฐที่พุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว และข้อมูลการส่งออกที่ย่ำแย่ของจีน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 79 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 72.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 66 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 76.95 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจะเดินทางเยือนประเทศจีนในเดือนนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าจีนและสหรัฐกำลังเริ่มสร้างเสถียรภาพด้านความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศถดถอยสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ
- เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียและนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้พบปะและหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐ เพื่อยืนยันต่อพันธสัญญาที่มีร่วมกันในการพัฒนาเสถียรภาพ ความมั่นคง และความรุ่งโรจน์ในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ
- เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นยูเครนเปิดเผยว่า กองกำลังรัสเซียได้ยิงถล่มท่อส่งแอมโมเนียในแคว้นคาร์คิฟของยูเครนหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งท่อลำเลียงดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายระยะเวลาข้อตกลงส่งออกธัญพืชและปุ๋ยอย่างปลอดภัยผ่านทางท่าเรือบริเวณทะเลดำ
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาทต่อดอลลาร์
- เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวฝ่ายประสานงานด้านอินโด-แปซิฟิกกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเมืองที่เปราะบางภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงในเดือนที่แล้ว และเป้าหมายของสหรัฐคือการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ
- ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะสุญญากาศ อยากให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากกว่านี้ ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่เกิดการสะดุด แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กกร.ได้ประเมินผลกระทบไว้ในคาดการณ์อยู่แล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปกว่าที่ควรจะเป็นคงบอกระดับความเสียหายไม่ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน นอกจากนี้ รายได้ภาคเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น มีการใช้จ่าย และการบริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ยังได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะหดตัวอยู่ในช่วง -1 ถึง 0%
- ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ค.66 พบว่า ดัชนี ICI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 77.70 ปรับลดลง 26.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยนักลงทุนมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการเมืองหลังการเลือกตั้ง รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และการเก็บภาษีตลาดทุน
- อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 158.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% และคาดว่าในครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง