ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 25.53 เหรียญ หรือ 1.32% อยู่ที่ระดับ 1,965.66 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 20.20 เหรียญ หรือ 1.03 % ปิดที่ 1,978.60 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 81.90 เซนต์ หรือ 3.48% ปิดที่ 24.348 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 10.70 เหรียญ หรือ 1.04% ปิดที่ 1,013.90 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 934.65 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 4.91 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 17.01 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.77 จุด หรือ -0.74% มาอยู่ที่ระดับ 103.3 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 3.722% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.519% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.8%
- FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 29.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกดีดตัวขึ้นเมื่อวานนี้ หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค. ตามทิศทางธนาคารกลางแคนาดาและออสเตรเลียที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.ของเฟดอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้
- แมริลีน วัตสัน นักวิเคราะห์จากบริษัทแบล็กร็อกกล่าวว่า “สัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนจับตาดัชนี CPI ของสหรัฐอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการเฟดอาจเลือกที่จะระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เฟดไม่มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป”
- ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดอย่างไรก็ดี RBI ส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในขณะที่ธนาคารกลางยังคงต้องควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง และอาจเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,833.61 จุด เพิ่มขึ้น 168.59 จุด หรือ +0.50%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,293.93 จุด เพิ่มขึ้น 26.41 จุด หรือ +0.62%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,238.52 จุด พุ่งขึ้น 133.63 จุด หรือ +1.02%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ระดับ 261,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย
- นักวิเคราะห์จากบริษัท John Hancock Investment Management กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง และได้ฉุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นมาตรวัดแนวโน้มการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ร่วงลงสู่ระดับ 4.51% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์
- ธนาคารรายใหญ่ของรัฐบาลจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสกุลเงินหยวนในวันนี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่ออัตรากำไรและลดต้นทุนในการปล่อยเงินกู้ ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการเงินและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ซึ่งรวมถึงราคาบ้านที่ชะลอตัวลง และล่าสุดยอดส่งออกที่ร่วงลงอย่างหนักในเดือนพ.ค. อาจจะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จะได้รับการกระตุ้นมากเป็นพิเศษ
- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัวเพียง 1.6% หลังจากการใช้จ่ายในภาคธุรกิจดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือนเม.ย.ขยายตัว 76.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.9 ล้านล้านเยน เนื่องจากยอดขาดดุลการค้าลดลงท่ามกลางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง ส่วนยอดนำเข้าลดลง 4.1% จากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 8.34 ล้านล้านเยน หลังจากราคาน้ำมันดิบลดลง 22.6% สู่ระดับ 83.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ยอดนำเข้าลดลงในรอบ 2 ปี 3 เดือน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานว่า ออสเตรเลียมียอดเกินดุลการค้า 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของยอดส่งออกแร่เหล็กและโลหะประเภทอื่น ๆ ในขณะที่การนำเข้าปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ ยอดส่งออกโดยรวมในลดลง 5% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2% ในเดือนเม.ย.
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี หลังจากสื่อรายงานว่า สหรัฐและอิหร่านใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งจะนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันในตลาดได้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.24 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 71.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 99 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 75.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
- หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนี กล่าวว่า วิกฤตพลังงานในเยอรมนียังไม่สิ้นสุด แต่อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่าคลังเก็บก๊าซจะเต็มในช่วงปลายฤดูร้อน
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ฟิทช์ เรทติ้งส์ระบุในรายงานว่า สงครามชิประหว่างสหรัฐและจีนอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทชิปรายใหญ่ของเกาหลีใต้ เนื่องจากจีนมีความสำคัญต่อศักยภาพด้านการผลิตของบริษัทชิปของเกาหลีใต้ แต่ภาวะติดขัดดังกล่าวนั้นจะไม่ยืดเยื้อยาวนานนัก
- เกาหลีใต้ประกาศสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปของประเทศ โดยประธานาธิบดียุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ระบุว่า การชิงชัยกันในอุตสาหกรรมชิปนับเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนร้อนระอุขึ้นทุกขณะ
- สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์รายงานว่า สหรัฐ ไต้หวัน และญี่ปุ่นเตรียมแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์จากโดรนลาดตระเวนทางทะเล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐกำลังพยายามผลักดันเพื่อยกระดับความร่วมมือในกรณีที่จีนก่อเหตุโจมตีไต้หวัน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ต้องการให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ระดับปกติ ยังดำเนินต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวและคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพได้ในปี 67 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่หลุดลงมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในเดือนพ.ค. ถือเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นมาได้ในไตรมาสต่อไป และเฉลี่ยทั้งปี 66 จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนพ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 55.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.63 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 50.2
- Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง จากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ส.ค.นี้ หลังจากได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันทั้งหมด 150bps สู่ระดับ 2.0% ต่อปี อีกทั้งเพื่อรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง