• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2566

    14 มิถุนายน 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร หลังจากสหรัฐเปิดเผยเงินเฟ้อชะลอตัวลง ซึ่งทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินฟ้อ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธตามเวลาสหรัฐ


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -13.88 เหรียญ หรือ -0.71% อยู่ที่ระดับ 1,943.26 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 11.10 เหรียญ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,958.60 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 23.70 เซนต์ หรือ 0.99% ปิดที่ 23.822 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 13.40 เหรียญ หรือ 1.35% ปิดที่ 981.90 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 931.43 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 8.13 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 13.79 ตัน


  • นักวิเคราะห์จากบริษัท Gold Newsletter กล่าวว่า การชะลอตัวของดัชนี CPI บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐอ่อนแรงลง ทำให้นักลงทุนเทขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และแม้ว่าตัวเลข CPI จะทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะเบรกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธนี้ แต่ราคาทองคำก็ยังปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดได้ซึมซับกระแสคาดการณ์ดังกล่าวไปแล้ว


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.25 จุด หรือ -0.24% มาอยู่ที่ระดับ 103.32 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 3.817% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.09 % มาอยู่ที่ระดับ 4.67% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.85% 


  • ธนาคารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ในสหรัฐคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ต่อไปในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และเฟดจะยังคงส่งสัญญาณแบบสายเหยี่ยวต่อไป เนื่องจากตลาดการจ้างงานอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในระดับสูง


  • บริษัทมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้แตะระดับสูงสุดแล้ว แต่การคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นอาจจะเกิดขึ้นได้ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.ก็ยังคงเป็นไปได้ เมื่อดูจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ


  • นักลงทุนในตลาดเงินคาดการณ์ในตอนนี้คาดว่า มีโอกาสราว 76.6% ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 13-14 มิ.ย.


  • หัวหน้าฝ่ายวิจัยมหภาคโลกจากเจพีมอร์แกนกล่าวว่า "เราชอบตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นตลาดเกิดใหม่มากกว่าตราสารหนี้สกุลเงินที่มีเสถียรภาพสูงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เราจึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุน overweight กับทั้งภูมิภาค และระยะเวลาที่นานน่าจะทำผลงานได้ต่อไป เนื่องจากวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของตลาดเกิดใหม่ใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว" และเจพีมอร์แกนยังคงให้น้ำหนักการลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเกิดใหม่โดยรวมด้วย


  • ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 2 พันล้านหยวน ผ่านทางข้อตกลง reverse repurchase ระยะ 7 วัน และปรับลดอัตราดอกเบี้ย reverse repurchase rate ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.9% จากระดับ 2% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565

 

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,212.12 จุด เพิ่มขึ้น 145.79 จุด หรือ +0.43%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,369.01 จุด เพิ่มขึ้น 30.08 จุด หรือ +0.69%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,573.32 จุด เพิ่มขึ้น 111.40 จุด หรือ +0.83%


  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 จากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 5.5% ในเดือนเม.ย. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์


  • นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นสองสถาบันการเงินระดับโลกที่จะสามารถถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ขณะเดียวกันนางเยลเลนพยายามผลักดันให้สภาคองเกรสให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธนาคารโลก และ IMF


  • การผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ขยะมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐนั้นได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทที่มีความเสี่ยงจากต้นทุนการกู้ยืมแบบลอยตัว


  • บริษัทอังกฤษตกลงขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5.6% ในช่วงเดือนก.พ. – เม.ย. ซึ่งสะท้อนถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


  • นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งได้แก่การผลิตภาคอุตสาหกรรม, ยอดค้าปลีก, อัตราว่างงาน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร โดยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าว จะบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องในเดือนพ.ค. และคาดว่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ธนาคารจีนออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้


  • รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นภาษีเพื่อใช้เป็นงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มเติมออกไปเป็นปี 2568


  • สถาบันเวสแพค-เมลเบิร์น อินสทิทิวต์เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียยังคงอยู่ในระดับต่ำในเดือนมิ.ย. หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเหนือความคาดหมายในเดือนนี้ โดยผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะตกงาน ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 3% ในวันอังคาร หลังจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะฟื้นตัว


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 2.30 ดอลลาร์ หรือ 3.43% ปิดที่ 69.42 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.45 ดอลลาร์ หรือ 3.41% ปิดที่ 74.29 ดอลลาร์/บาร์เรล

ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เตรียมกระชับความร่วมมือระดับทวิภาคีกับ 4 พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ โดยกำลังเตรียมเอกสารความร่วมมือระดับทวิภาคีให้กับแต่ละประเทศ โดยกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวจะสำรวจความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การอวกาศ และการต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูล


  • โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐกังวลว่าเกาหลีเหนือกำลังวางแผนส่งมอบอาวุธให้กับรัสเซียเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ให้คำมั่นว่าจะยกระดับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับรัสเซีย


  • นายแอนเดอร์ส อาห์นลิด ประธานการหารือประเด็นงบประมาณบูรณะก่อสร้างประเทศยูเครนของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ระบุว่า EU ใกล้จะเสร็จสิ้นการวางแผนเกี่ยวกับวิธีการใช้สินทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้ของรัสเซียในการบูรณะก่อสร้างประเทศยูเครน


  • นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า จีนพิจารณาพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกสำหรับการแผ่ขยายอิทธิพล ซึ่งรวมถึงการตั้งศูนย์รวบรวมข่าวกรองในคิวบา


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดและอาจอยู่ในกรอบ 34.50-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด


  • ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน มิ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 65.71 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.41 จุด หรือ 0.62% จากเดือน พ.ค.66 ที่ระดับ 65.30 จุด โดยปัจจัยหนุนให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สถานการณ์การเมืองไทย เงินบาทอ่อนค่าหนุนราคาทองคำในประเทศ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

 

 

 


ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com