• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2566

    16 มิถุนายน 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด อย่างไรก็ดี ตลาดทองคำถูกกดดันในระหว่างวัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 15.38 เหรียญ หรือ 0.79% อยู่ที่ระดับ 1,957.32 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.80 เหรียญ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,970.70 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 15.80 เซนต์ หรือ 0.66% ปิดที่ 23.947 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.90 เหรียญ หรือ 1.21% ปิดที่ 991.90 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 929.7 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 9.86 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 12.06 ตัน


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.84 จุด หรือ -0.82% มาอยู่ที่ระดับ 102.12 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 3.72% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.652% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.93% 


  • แบงก์ ออฟ อเมริการะบุว่า คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยปลายทางเพิ่มขึ้นเป็น 5.5-5.75% ก่อนหน้านี้ บริษัทคาดว่า อัตราดอกเบี้ยปลายทางจะอยู่ที่กรอบ 5-5.25% ในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในกรอบ 5-5.25% เมื่อวานนี้


  • รองประธาน-ประธานกรรมการบริหารของธนาคารวีทีบี แบงก์ (VTB Bank) ของรัสเซียเปิดเผยว่า เงินออมสกุลหยวนของภาคครัวเรือนในธนาคารรัสเซียจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปีนี้ และมีสัดส่วนมากกว่า 45% ของเงินออมในรูปสกุลเงินต่างประเทศอื่น ๆ ภายในสิ้นปี 2567


  • ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังช่วงโควิด-19 ยังคงอ่อนแอ โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MLF


  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15 มิ.ย.-16 มิ.ย.นี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า คณะกรรมการ BOJ จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษในการประชุมครั้งนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อ, การขยายตัวของค่าแรง และการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับ 0%


  • นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 22 มิ.ย.

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันพฤหัสบดี ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการที่ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,408.06 จุด เพิ่มขึ้น 428.73 จุด หรือ +1.26%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,425.84 จุด เพิ่มขึ้น 53.25 จุด หรือ +1.22% 
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,782.82 จุด เพิ่มขึ้น 156.34 จุด หรือ +1.15%


  • สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในปีนี้ โดยจะขยายตัว 1%  ซึ่งเมื่อรวมกับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่จะอยู่ที่ 3.1% ณ สิ้นปีนี้ก็จะทำให้มีสถานการณ์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในต่างประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา


  • องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยการคาดการณ์เบื้องต้นที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบรายไตรมาสในไตรมาสที่ 1/2566 ทั้งนี้ จากรายงานระบุว่า ในไตรมาสที่ 1/2566 การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่ม G20 ได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีนซึ่งเศรษฐกิจขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับ 0.6% ในไตรมาส 4/2565


  • มอร์แกน สแตนลีย์ระบุว่า เศรษฐกิจของทวีปเอเชียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากทวีปเอเชียไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะตื่นตระหนกของอัตราดอกเบี้ย และภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะขยายตัวแซงหน้าสหรัฐและยุโรปประมาณ 4.5% 


  • การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนร่วงลง 7.2% ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ย่ำแย่กว่าในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.ที่ปรับตัวลง 6.2% ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินมีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก


  • เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในเดือนพ.ค. โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเพิ่มการคาดการณ์ว่า จีนจะต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นอย่างรวดเร็วเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอ่อนแอหลังโรคระบาด ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 3.5% ในเดือนพ.ค.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งชะลอตัวลงจาก 5.6% ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% เนื่องจากผู้ผลิตประสบกับภาวะอุปสงค์ชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 12.7% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 13.6% และชะลอตัวจาก 18.4% ในเดือนเม.ย.


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมทั้งรายงานการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นในประเทศจีน ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันในจีนปรับตัวสูงขึ้น


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.35 ดอลลาร์ หรือ 3.44% ปิดที่ 70.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.47 ดอลลาร์ หรือ 3.37% ปิดที่ 75.67 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • ราคาน้ำมัน WTI กลับมายืนที่เหนือระดับ 70 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง และปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. หลังจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกระบุว่า ปริมาณการกลั่นน้ำมันในจีนพุ่งขึ้น 15.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แตะระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว


  • นักวิเคราะห์จากยูบีเอสคาดการณ์ว่า การที่ซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนก.ค. และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีนั้น จะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง และจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน


  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดภายในปี 2571 เนื่องจากราคาที่พุ่งสูงและความกังวลเรื่องความมั่นคงของอุปทานน้ำมัน ซึ่งจะเร่งให้เกิดการหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้น ทั้งนี้ ในรายงานตลาดระยะกลาง “Oil 2023” นั้น IEA ระบุว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะปรับตัวขึ้น 6% ระหว่างปี 2565-2571 แตะที่ระดับ 105.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (mb/d) โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากภาคปิโตรเคมีและภาคการบิน


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • ญี่ปุ่นกำลังเจรจาเพื่อจัดหากระสุนปืนใหญ่ให้สหรัฐ เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการตอบโต้รัสเซียของยูเครน


  • สภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียมีมติผ่านร่างกฎหมาย เพื่อป้องกันรัสเซียจากการก่อสร้างสถานทูตแห่งใหม่ใกล้อาคารรัฐสภา จากเหตุผลด้านความมั่นคง หลังจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในการทำสงครามของยูเครนทวีความร้อนแรง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี แห่งออสเตรเลียระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะระงับสัญญาเช่าพื้นที่ใกล้อาคารรัฐสภาออสเตรเลียของรัสเซีย ตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านความมั่นคง

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ และอาจอยู่ในกรอบ 34.45-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ


  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและมีโอกาสสูงมากกว่าคาด โดยมีภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงส่งสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี และเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและนโยบายของรัฐบาลจีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังเห็นพ้องว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง และคาดว่าจะมีความหนืด (persistence) มากขึ้นกว่าในอดีต จึงเห็นควรมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี เพื่อเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้


 

 

 

ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com