ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -3.05 เหรียญ หรือ -0.16% อยู่ที่ระดับ 1,932.11 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEXส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 2.80 เหรียญ หรือ 0.14% ปิดที่ 1,944.90 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 42.40 เซนต์ หรือ 1.82% ปิดที่ 22.81 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 19 เหรียญ หรือ 1.96% ปิดที่ 949 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.73 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 932.3 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 7.26 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 14.66 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.47 จุด หรือ -0.46% มาอยู่ที่ระดับ 102.03 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.0 % มาอยู่ที่ระดับ 3.727% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 4.719% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.99%
- นายพาวเวลได้แถลงมุมมองเศรษฐกิจและนโยบายการเงินต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคืนนี้ตามเวลาไทยว่า เฟดยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในทิศทางปัจจุบัน โดยย้ำว่าการตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับในการประชุมแต่ละนัด มากกว่าที่จะมีการตั้งธงกำหนดแนวทางไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมด้วยว่า เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่เหนือเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด ซึ่งทำให้เฟดยังคงมีงานที่จะต้องทำ ส่วนตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แม้มีสัญญาณบ่งชี้ภาวะที่ผ่อนคลายลง โดยประชาชนในวัย 25-54 ปีได้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น
- รายงานของเฟดสาขาซานฟรานซิสโกบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มร่วงลงอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต โดยได้รับผลกระทบอย่างล่าช้าจากการคลี่คลายปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานได้ปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ถ้าหากไม่เกิดวิกฤติเพิ่มเติมอีกในอนาคต ภาวะเงินเฟ้อจากห่วงโซ่อุปทานก็น่าจะหายไปภายในช่วงต้นปีหน้า และถ้าหากปัจจัยอื่น ๆ ไม่ได้เปลี่ยนเแปลงไปจากเดิม สิ่งนี้ก็บ่งชี้ว่า เฟดอาจจะไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกมากนักเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย
- นายอดัม ชาปิโร นักเศรษฐศาสตร์ของเฟดสาขาซานฟรานซิสโกบ่งชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาคอุปทานกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ได้รับแรงกระตุ้นจากอุปสงค์ นอกจากนี้ รายงานวิจัยของนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด และนายโอลิวิเยร์ แบลนชาร์ด อดีตผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็บ่งชี้ว่า การปรับขึ้นค่าแรงอาจจะเข้ามาแทนที่ภาวะขาดแคลนอุปทานในฐานะปัจจัยหลักที่กระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ
- นายออสแตน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่นักวิจัยในเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ระบุว่า เงินออมส่วนเกินอาจจะช่วยหนุนภาวะเงินเฟ้อต่อไป ถึงแม้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา
- นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้ว แต่เฟดจะยังคงพุ่งความสนใจไปที่การทำให้เงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมาย 2% "เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านทั้งเงินเฟ้อ, ภาวะวิกฤติภาคธนาคาร และภาวะไร้เสถียรภาพด้านภูมิศาสตร์การเมือง เฟดจะต้องสนใจความท้าทายเหล่านี้ต่อไป นอกจากนี้ ลิซา คุก ผู้ว่าการเฟด ระบุว่า ช่วงเวลาปัจจุบันเป็น "หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ" สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ และสังเกตว่า "เป็นเรื่องจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดจะต้องดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อทำให้เงินเฟ้อลดลง" อย่างไรก็ดี คุก และนายเจฟเฟอร์สันร่วมลงมติหนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5-5.25% ในการประชุมในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่นายเจฟเฟอร์สันกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า มาตรการขึ้นดอกเบี้ยสิ้นสุดแล้ว แต่เป็นการหยุดระหว่างเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายมีเวลาดูข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติม
- อเดรียนา คุกเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการของเฟด กล่าวว่า การทำให้เงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดเป็นกุญแจสำคัญต่อการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐ
- นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค.
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมของเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของ BOJ ตกลงที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำเป็นพิเศษต่อไป ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ขณะที่ญี่ปุ่นขยับเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ที่ 2% สมาชิกคณะกรรมการทั้ง 9 รายเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Policy) ต่อไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มค่าแรงนั้นมีความไม่แน่นอน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟด
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,951.52 จุด ลดลง 102.35 จุด หรือ -0.30%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,365.69 จุด ลดลง 23.02 จุด หรือ -0.52%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,502.20 จุด ลดลง 165.09 จุด หรือ -1.21%
- นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ถ้าหากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงเริ่มส่งผลให้ความเชื่อมั่นในภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ธนาคารกลางก็จะเผชิญกับความยุ่งยากในการกำหนดนโยบายในอนาคต ทั้งนี้ นักลงทุนหลายรายเคยคาดการณ์ในช่วงที่ผ่านมาว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลให้อุปสงค์ชะลอตัวลง และปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่ออัตราผลกำไรในภาคเอกชน, สร้างความเสียหายต่อการจ้างงาน และส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อย่างรวดเร็วในอนาคต ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งไว้
- หนี้สาธารณะของอังกฤษพุ่งทะลุ 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เนื่องจากมีการกู้ยืมเงินสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของอังกฤษ ซึ่งไม่นับรวมธนาคารที่อ
- ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษพุ่งขึ้นแตะ 8.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลง หนึ่งวันก่อนที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะประกาศการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 13 ติดต่อกัน
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของงดอลลาร์ และการแสดงมุมมองเศรษฐกิจเชิงบวกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากภาวะอุปทานข้าวโพดตึงตัวในสหรัฐ โดยข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอธานอลและเชื้อเพลิง
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.34 ดอลลาร์ หรือ 1.88% ปิดที่ 72.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.22 ดอลลาร์ หรือ 1.61% ปิดที่ 77.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นายเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง โดยอุตสาหกรรมภาคการผลิตและภาคบริการต่างก็ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุน การอุปโภคบริโภค การส่งออก และการจ้างงาน ก็อยู่ในทิศทางที่ดีและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ หลังจากถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ดีดตัวขึ้นเหนือค่าเฉลี่ย 50 วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.ปีนี้
- สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ETRI) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันดิบในจีนจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.5% สู่ระดับ 740 ล้านตันในปี 2566 ซึ่งน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค.ว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 4.5% โดยปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบถูกปรับลดลงนั้น เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- เกาหลีเหนือได้ออกมาวิพาษ์วิจารณ์กรณีที่นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเดินทางเยือนจีนว่า เป็นเพียงทริปที่ต้องการวิงวอนขอฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ หลังจากที่สหรัฐประสบความล้มเหลวในการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกดดันจีน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 34.84 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดวานนี้ที่ 34.86 บาทต่อดอลลาร์ คาดการณ์วันนี้ในกรอบ 34.70-34.95 บาทต่อดอลลาร์ ภาพรวมค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และไม่แตกต่างจากถ้อยแถลงหลังการประชุมเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
- เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะ Take Off ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยปัญหาในปี 66 อยู่ที่ภาคการส่งออกหดตัว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งภูมิภาค ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศไม่มีปัญหา มีแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 28 ล้านคน และการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตามยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 เดินหน้าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ปัญหาที่จะเข้ามากระทบ ก็เป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจภายใน ส่วนเรื่องค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค จากนี้จะเริ่มปรับลดลงตามราคาพลังงาน แต่ก็ยังห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ต้องให้ความสำคัญ ที่จะฉุดรั้งการใช้จ่ายในระยะต่อไป รวมถึงต้องดูหนี้เสียในกลุ่มรถยนต์ ที่ต้องเฝ้าระวังจริงจัง เพราะมีแนวโน้มขยับขึ้นเรื่อยๆ ไตรมาสละ 0.2-0.3% และหนี้บัตรเครดิต ที่ต้องระมัดระวังใช้จ่ายเกินตัว”
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าในสัปดาห์หน้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย จะมียอดสะสมเกิน 12 ล้านคน สูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 63 โดยจากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ 1 ม.ค.-19 มิ.ย.66 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 11.89 ล้านคน และเฉพาะในเดือน มิ.ย.66 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเป้าหมายที่ 2.17 ล้านคน ขณะที่ทั้งปี 66 ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง