• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2566

    23 มิถุนายน 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1% ในวันพฤหัสบดี หลังจากธนาคารกลางหลายแห่งพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังส่งสัญญาณในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสวันที่ 2 ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -18.68 เหรียญ หรือ -0.97% อยู่ที่ระดับ 1,913.5 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 21.20 เหรียญ หรือ 1.09% ปิดที่ 1,923.70 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 34.30 เซนต์ หรือ 1.50% ปิดที่ 22.467 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 22.50 เหรียญ หรือ 2.37% ปิดที่ 926.50 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.6 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 929.7 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 9.86 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 12.06 ตัน


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง 


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.35 จุด หรือ 0.34% มาอยู่ที่ระดับ 102.38 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 3.799% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 4.795% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-1.0% 


  • การที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อราคาทองคำ นอกจากนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ยังส่งผลให้ทองคำมีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.30% แตะที่ระดับ 102.3849 เมื่อคืนนี้


  • นายพาวเวลได้แถลงต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ โดยย้ำว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ หากเศรษฐกิจปรับตัวตามที่คาดการณ์ไว้ พร้อมเสริมว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คิดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ในกรอบ 5.50-5.75%


  • นายโรเจอร์ ฮอลแลม หัวหน้าฝ่ายอัตราดอกเบี้ยโลกของบริษัทแวงการ์ดได้ปรับเพิ่มสถานะการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวในช่วงนี้ โดยเขากล่าวว่า "นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง และเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงิน"


  • นายออสตัส กูลส์บี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกกล่าวว่า เฟดต้องการความชัดเจนมากกว่านี้เกี่ยวกับเงินเฟ้อ และทิศทางของตลาดแรงงานก่อนที่จะตัดสินใจการดำเนินการต่อไป


  • นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก มิฉะนั้นก็จะเสี่ยงกับการลดทอนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐไปโดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งระบุว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรอนานกว่านี้เพื่อให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งก่อนๆส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก่อนที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก


  • สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และประธานธนาคารกลางเยอรมนี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนเป็นสิ่งที่ลดลงได้ยาก และอีซีบีอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแบบนี้คือการที่ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ อีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วรวมกัน 4% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และให้สัญญาว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. ในขณะที่อีซีบีอาจจะต้องใช้เวลานานจนถึงปี 2025 ในการทำให้อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%


  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติ 7-2 ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในการประชุมเมื่อวานนี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ทั้งนี้ BoE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 13 ติดต่อกันเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวสู่ระดับ 7.1% ในเดือนพ.ค ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2535


  • ธนาคารกลางนอร์เวย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% สู่ระดับ 3.75% เมื่อวานนี้ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ในความพยายามที่จะจัดการกับเงินเฟ้อ พร้อมระบุว่า ทางธนาคารมีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนส.ค.


  • ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยที่สุดนับตั้งแต่ SNB เริ่มต้นคุมเข้มนโยบายการเงินเมื่อหนึ่งปีก่อน ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่า SNB อาจดำเนินการอีกครั้ง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2 โดยย้ำว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการดำเนินการอย่างระมัดระวัง ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,946.71 จุด ลดลง 4.81 จุด หรือ -0.01%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,381.89 จุด เพิ่มขึ้น 16.20 จุด หรือ +0.37% 
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,630.61 จุด เพิ่มขึ้น 128.41 จุด หรือ +0.95%


  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 264,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564


  • สภาหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน (EUCCC) ระบุว่า ธุรกิจจากยุโรปดำเนินกิจการยากขึ้นในจีน แม้ว่าจีนจะเปิดประเทศอีกครั้ง หลังจากการแพร่รระบาดของโรคโควิด-19 แล้วก็ตาม เนื่องจากเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดหรืออุปสรรคด้านกฎระเบียบ


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 4% ในวันพฤหัสบดี หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าคาด และนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 3.02 ดอลลาร์ หรือ 4.16% ปิดที่ 69.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 2.98 ดอลลาร์ หรือ 3.86% ปิดที่ 74.14 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • นักลงทุนกังวลว่าภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน โดยความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล


  • รัฐมนตรีพลังงานของยูเครนที่ระบุว่า รัสเซียอาจปิดหนึ่งในท่อส่งก๊าซไปยังยุโรปภายในสิ้นปีหน้า เมื่อสัญญาการจัดหาก๊าซของยูเครนกับบริก๊าซพรอมหมดอายุ


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • นายกรัฐมนตรีเยอรมนีออกมาเรียกร้องให้บรรดาผู้นำองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มุ่งความสนใจไปที่การส่งเสริมความสามารถในการต่อสู้ของยูเครนในขณะที่กำลังรบพุ่งกับรัสเซีย ก่อนถึงกำหนดการประชุม ณ กรุงวิลนิอุสเมืองหลวงของประเทศลิทัวเนียในเดือนก.ค.


  • หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดียูเครน เปิดเผยว่า หากนาโตไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดและไม่สามารถยืนยันว่าจะให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ ในการประชุมสุดยอด ณ วันที่ 11 – 12 ก.ค. แล้วละก็ สิ่งนี้จะเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของชาวยูเครน 


  • สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียชุดที่ 11 เพื่อตอบโต้การทำสงครามของรัสเซียในยูเครน โดยมาตรการดังกล่าวจะจัดการกับเครื่องจักรสงครามของปูติน รวมถึงจำกัดการส่งออกอย่างเข้มงวด โดยพุ่งเป้าไปที่บุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนรัสเซีย


  • ทำเนียบเครมลินของรัสเซียเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐกล่าวพาดพิงถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนว่าเป็นเผด็จการเพียงไม่นานหลังจากการประชุมระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐและจีน แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

 

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 35.13 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเมื่อวานที่ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้เคลื่อนไหวในช่วง 35.05 - 35.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยนักบริหารการเงิน เผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้าน 35.15 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะปรับตัวลดลง (ราคาทองคำลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน) โดยปัจจัยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาท ยังคงมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มักมาพร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ ทำให้เงินบาทก็ถูกกดดันจากโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลง และการเมืองไทยเกิดความไม่แน่นอน คือการไม่สามารถตั้งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีได้ทันเดือน ก.ค. จึงจะเป็นปัจจัยร่วมทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาอย่างรุนแรง


  • KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในปีนี้และในระยะต่อไป กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะไม่ได้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา การฟื้นตัวที่แผ่วบางของจีนไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวในระยะสั้น แต่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และเริ่มส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนี้ ประเด็นที่น่ากังวล คือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนสูง ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกทำให้การชะลอตัวของจีนในรอบนี้ จะส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในระยะยาว

 

 

 

ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com