ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 0.3 เหรียญ หรือ 0.02% อยู่ที่ระดับ 1,908.01 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 4.30 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,917.90 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2566
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 28.60 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 22.798 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 18.10 เหรียญ หรือ 1.96% ปิดที่ 906.80 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.31 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 924.5 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ขายสุทธิ 15.06 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 6.86 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.39 จุด หรือ 0.38% มาอยู่ที่ระดับ 103.35 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.13 % มาอยู่ที่ระดับ 3.842% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.15 % มาอยู่ที่ระดับ 4.866% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-1.02%
- บรรดาผู้นำธนาคารกลางชั้นนำของโลก เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเชื่อว่า พวกเขาจะสามารถทำได้โดยที่จะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบกะทันหัน
- นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเขาไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. โดยระบุว่า การระงับการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้เป็นการดำเนินการเพื่อที่จะประเมินว่า มาตรการขึ้นดอกเบี้ยกำลังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนการดำเนินนโยบายในอนาคตจะถูกขับเคลื่อนจากภาวะเศรษฐกิจ
- โดยนายเจอโรม พาวเวล กล่าวเสริมว่า ตลาดแรงงานสหรัฐจะต้องอ่อนแอลงอีกเพื่อลดแรงกดดันต่อราคา ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้
- นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 90% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข GDP และข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณครั้งล่าสุดว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้
- นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ย้ำว่า เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของยูโรโซนอาจเผชิญกับภาวะถดถอยแบบกะทันหันในปีนี้ โดยการต่อสู้กับเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งขณะนี้เรายังไม่เห็นสัญญาณเพียงพอที่จะระบุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานกำลังลดลง ซึ่งเป็นการตรอกย้ำ การคาดการณ์ของตลาดว่า อีซีบีอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ในเดือนหน้า
- นายแอนดรูว์ ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า เรายังจำเป็นที่จะต้องลดอัตราเงินเฟ้อลง โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% อย่างไม่คาดคิดในสัปดาห์ที่แล้วสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไว และภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่สูงของอังกฤษ โดยธนาคารกลางคาดว่าจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- ขณะที่นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจจะคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 2% แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงเกิน 3% ก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) โดยรายงานดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของสหรัฐ และช่วยบดบังปัจจัยลบจากความวิตกกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,122.42 จุด เพิ่มขึ้น 269.76 จุด หรือ +0.80%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,396.44 จุด เพิ่มขึ้น 19.58 จุด หรือ +0.45%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,591.33 จุด ลดลง 0.42 จุด หรือ -0.003%
- สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 239,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย
- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผย ยอดขาดดุลการค้าภาคสินค้าของสหรัฐหดตัวลง 6.1% สู่ 9.11 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ในขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 2.7% สู่ระดับ 2.540 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ตาม การดิ่งลงของยอดขาดดุลการค้าในครั้งนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัจจัยที่มากพอที่จะส่งแรงบวกต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสสอง
- สำนักงบประมาณสภาคองเกรส คาดหนี้สาธารณะสหรัฐอาจพุ่งขึ้นเป็น 181% ของจีดีพีภายในปี 2053 ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อยจากการคาดการณ์ในระยะยาว โดยเป็นผลจากการกำหนดเพดานงบรายจ่ายที่สภาคองเกรสต้องทำการอนุมัติเป็นรายปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลาง ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะในปีนี้อยู่ที่ 98% ของจีดีพี
- คณะกรรมการทางการคลังยุโรป (อีเอฟบี) ระบุว่า รัฐบาลในยูโรโซนควรคุมเข้มนโยบายการคลังในปีหน้าเพื่อช่วยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และป้องกันไม่ให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นสูงเกินไป โดยอีเอฟบีระบุว่า นโยบายการคลังโดยรวมของยูโรโซนจะยังคงเป็นเชิงสนับสนุน แม้จะมีการคุมเข้มก็ตาม ซึ่งคาดว่า ในปี 2024 รัฐบาลยูโรโซนจะปรับลดการสนับสนุนทางการคลังต่อเศรษฐกิจลง 0.8% ของจีดีพี โดยจะทยอยถอนมาตรการหนุนราคาพลังงานในปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยตลาดยังคงได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องนักลงทุนวิตกกังวลว่าภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 69.86 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.42% ปิดที่ 74.34 U.S. ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักวิเคราะห์คาดว่า ตลาดน้ำมันจะตึงตัวมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตรจะยังคงปรับลดการผลิตน้ำมันต่อไป และซาอุดิอาระเบียจะเริ่มปรับลดการผลิตน้ำมันลงในเดือนก.ค.
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวถึงความคาดหวังในการเดินทางเยือนจีน คือ การสร้างความสัมพันธ์กับคณะผู้นำกลุ่มใหม่ โดยต้องการที่จะปรึกษาหารือกันในเรื่องที่สหรัฐ และจีนไม่ลงรอยกัน อย่างไรก็ตาม นางเจเน็ต เยลเลนยังคงไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะเดินทางไปเยือนจีนเมื่อใด
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเช้านี้ เปิดตลาด 35.70 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากเมื่อวานที่ 35.62 บาทต่อดอลลาร์ คาดการณ์วันนี้จะมีแนวรับและแนวต้านที่ 35.50/35.80 บาทต่อดอลลาร์
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.66 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวที่ -4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการหดตัว 8 เดือนติดต่อกัน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง