ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -10.76 เหรียญ หรือ -0.56% อยู่ที่ระดับ 1,915.12 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 2.40 ดอลลาร์ หรือ 0.12% ปิดที่ 1,927.10 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 29 เซนต์ หรือ 1.25% ปิดที่ 23.402 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 9 ดอลลาร์ หรือ 0.98% ปิดที่ 925 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 4.04 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 917.86 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 4.04 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 0.22 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.28 จุด หรือ 0.27% มาอยู่ที่ระดับ 103.35 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 3.934% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.951% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-1.02%
- ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยผลสำรวจใหม่พบว่า ผู้บริโภคในยูโรโซนได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าลงอีกครั้งในเดือนพ.ค. แต่พวกเขายังคงคาดว่า ราคาจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่อีซีบีต้องการในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยค่ากลางในผลสำรวจเดือนพ.ค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.9% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งลดลงจาก 4.1% ในเดือนเม.ย. และ 5.0% ในเดือนมี.ค.
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตของยูโรโซนลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 1.9% ในเดือนพ.ค.จากเดือนเม.ย. และลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลง 1.8% เมื่อเทียบรายเดือน และจะลดลง 1.3% เมื่อเทียบรายปี
- ธนาคารกลาง 7 แห่งของกลุ่มประเทศจี-10 ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. ซึ่งส่งผลให้เดือนมิ.ย.ถือเป็นเดือนที่มีจำนวนธนาคารกลางในกลุ่มจี-10 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกันมากที่สุดในปี 2023 ในขณะที่ธนาคารกลางอีก 2 แห่งที่เหลือตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. โดยธนาคารกลางในกลุ่มจี-10 นี้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในอนาคตด้วย ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายพยายามรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ หลังจากที่เฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,288.64 จุด ลดลง 129.83 จุด หรือ -0.38%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,446.82 จุด ลดลง 8.77 จุด หรือ -0.20%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,791.65 จุด ลดลง 25.12 จุด หรือ -0.18%
- กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนหดตัวลงในเดือนมิ.ย. ท่ามกลางภาวะตกต่ำในวงกว้างในภาคบริการของยูโรโซน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ร่วงลงมากขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) คอมโพสิตขั้นปลายร่วงลงสู่ระดับ 49.9 ในเดือนมิ.ย. จาก 52.8 ในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 50.3
- กิจกรรมภาคบริการจีนเติบโตในเดือนมิ.ย.ในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 5 เดือน ในขณะที่อุปสงค์อ่อนแอลง และปัจจัยดังกล่าวเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในจีนหลังผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาด ทั้งนี้ ดัชนีไคซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลสำหรับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนดิ่งลงจาก 57.1 ในเดือนพ.ค. สู่ 53.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนีที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น
- สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (Rengo) กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเสนอขึ้นค่าแรงสูงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ หลังจากเจรจาหลายครั้งกับกลุ่มแรงงานในปีนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาชี้ว่า การขึ้นค่าแรงนี้จะช่วยฟื้นฟูอุปสงค์ที่อ่อนแอของกลุ่มผู้บริโภคได้
- ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้แสดงความพอใจที่เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวได้ดีเกินคาด แม้ว่ารัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของรัสเซียขยายได้ดีกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่น่าพอใจ พร้อมกับคาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ของรัสเซียในปี 2566 อาจขยายตัวมากกว่า 2% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจสูงไม่เกิน 5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลข GDP ของรัสเซียจะขยายตัวเพียง 0.7% ในปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 71 ดอลลาร์ในวันพุธ ขานรับข่าวซาอุดีอาระเบียขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน และรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันนี้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2 ดอลลาร์ หรือ 2.87% ปิดที่ 71.79 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 2 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 76.65 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 4.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- การตัดสินใจของจีนในการจำกัดการส่งออกโลหะ 2 ชนิดที่สำคัญต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ไฟฟ้าบางประเภทนั้นเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า จีนจะไม่ยอมถูกบีบออกจากห่วงโซ่อุปทานชิปทั่วโลก
- สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งประเทศจีนได้เตือนเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียแบบเป็นการส่วนตัว ซึ่งบ่งชี้ว่าจีนแอบวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ว่าจีนจะสนับสนุนรัสเซียก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดเมื่อวานที่ระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีกรอบแนวรับที่ 34.75 บาท และแนวต้าน 35.10 บาท
- ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% แต่ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ -2 ถึง 0% จากเดิม -1 ถึง 0% และปรับลดกรอบเงินเฟ้อ ลงมาอยู่ที่ 2.2-2.7% จากเดิม 2.7-3.2%
- กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน มิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 0.23% จากตลาดคาด 0.0-0.15% โดยเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนตั้งแต่ ส.ค.64 เนื่องจากการลดลงราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานในเดือน มิ.ย.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.66) เพิ่มขึ้น 2.49% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนมิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 1.32% ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.87%
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง