
ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 14.59 เหรียญ หรือ 0.76% อยู่ที่ระดับ 1,925.57 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 17.10 เหรียญ หรือ 0.89% ปิดที่ 1,932.50 เหรียญ และปรับตัวขึ้น 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 39.90 เซนต์ หรือ 1.74% ปิดที่ 23.289 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 8.80 เหรียญ หรือ 0.97% ปิดที่ 918.50 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.6 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 915.26 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 6.64 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 2.38 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.79 จุด หรือ -0.77% มาอยู่ที่ระดับ 102.29 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.072% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.944% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.87%
- นางลอรี โลแกน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัสเปิดเผยว่า ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย.นั้น กรรมการเฟดมีการพูดคุยถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันดังกล่าว ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวเป็นการยืนยันว่า กรรมการเฟดรวมทั้งนางโลแกนด้วยนั้นมองว่าเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
- นายออสตัน กูลสบี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกเปิดเผยว่า ผู้กำหนดนโยบายของเฟดได้พบแนวทางที่เหมาะสมในการปรับลดการขยายตัวของเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ นายกูลสบีกล่าวเสริมถึงข้อมูลการจ้างงานว่า “เรากำลังเข้าใกล้อัตราการจ้างงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการสำหรับการควบคุมเงินเฟ้อ”
- นายบิล อดัมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากโคเมริกา แบงก์กล่าวว่า "ถ้าการจ้างงาน และเงินเฟ้อยังคงออกมาร้อนแรงกว่าคาดในช่วงครึ่งปีหลัง เฟดก็อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แค่ครั้งเดียว แต่จะขึ้นอีก 2 ครั้งก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งช่วงครึ่งแรกของปีหน้า"
- นายลูอิส เดอ กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า แรงกดดันด้านราคาพื้นฐานในยูโรโซนจะผ่อนคลายลงในที่สุด และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาเริ่มทำงานไปทั่วระบบเศรษฐกิจแล้ว
- อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจอาจจะปรับทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีนี้ให้สูงขึ้นจากเดิม แต่บีโอเจมีแนวโน้มที่จะยังไม่ปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 27-28 ก.ค.
- อดีตรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า เงินเยนอาจจะร่วงหลุดจากระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีที่เคยทำไว้ในปีที่แล้ว เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สวนทางกับของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยหากเงินเยนเคลื่อนไหวที่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ ก็อาจจะทำให้ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อพยุงค่าเงินเยน”
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ หลังการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน ขณะที่นักลงทุนปรับตัวรับรายงานการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด และรอการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ ๆ ตลอดจนรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,734.88 จุด ลดลง 187.38 จุด หรือ -0.55%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,398.95 จุด ลดลง 12.64 จุด หรือ -0.29%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,660.72 จุด ลดลง 18.33 จุด หรือ -0.13%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 225,000 ตำแหน่ง
- ผลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า การให้สินเชื่อสกุลเงินหยวนใหม่ของจีนอาจเพิ่มขึ้นอีกในเดือนมิ.ย. หลังจากที่พุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่าในเดือนพ.ค. ขณะที่ธนาคารกลางจีนยังดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายต่อไปเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง
- ราคาบ้านของอังกฤษเดือนมิ.ย.ปรับตัวลง 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นการร่วงแรงที่สุดในรอบ 12 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2554 อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยอ่อนแอลง
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากตลาดคลายความวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมิ.ย.
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.06 ดอลลาร์ หรือ 2.87% ปิดที่ 73.86 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 4.6% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.95 ดอลลาร์ หรือ 2.55% ปิดที่ 78.47 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 4.1% ในรอบสัปดาห์นี้
- นักวิเคราะห์ของเอฟเอ็กซ์ เอ็มไพร์ซึ่งเป็นบริษัทข้อมูลตลาดระบุว่า “น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้น ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์ยังคงมุ่งความสนใจไปที่การปรับลดการผลิตของรัสเซียและซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้การอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดน้ำมันด้วย”
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเช็กว่า ยูเครนต้องการอาวุธพิสัยไกลจากสหรัฐเพื่อต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียที่รุกรานยูเครน
- เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า การประชุมทวิภาคีรวม 10 ชั่วโมงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในช่วงไม่กี่วันมานี้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ แม้ทั้งสองฝ่ายยังคง “มีข้อขัดแย้งกันอยู่บ้าง” แต่เชื่อว่าจะหาทางตกลงกันได้ โดยการเดินทางเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของจีน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการเข้าใจผิด และปูทางไปสู่ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ พร้อมกับย้ำว่า สหรัฐไม่ได้ต้องการจะแยกตัวออกจากเศรษฐกิจของจีน เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็น “หายนะสำหรับทั้งสองประเทศ และทำให้โลกสั่นคลอน”
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชีของสหรัฐเริ่มเปิดฉากตรวจสอบบรรดาบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กครั้งใหม่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งเป็นสองประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.05-35.25 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 7 ก.ค. ที่ระดับ 35.24 บาทต่อดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยขยับแข็งค่าในช่วงแรก ก่อนลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงแรก โดยมีแรงหนุนหลังการเปิดประชุมสภาฯ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากข้อมูลดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนพ.ค. ที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
- นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หากจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปลายเดือนกรกฎาคม งบประมาณปี 2567 อาจจะล่าช้าไป 2-3 เดือน แต่ยังไม่กระทบเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก แต่หากการจัดตั้งยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายน หรือตุลาคม จะทำให้มีรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจเต็มบริหารประเทศนานถึง 6-7 เดือน โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลผูกพันงบประมาณหลายปี จะไม่สามารถดำเนินการได้เลย โครงการหลายส่วนอาจต้องชะลอออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อของไทย เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของเขตเศรษฐกิจต่างๆ (พ.ค.66 เทียบกับ พ.ค.65) พบว่า เงินเฟ้อของประเทศไทยสูงขึ้น 0.53% (YoY) และอยู่ต่ำเป็นอันดับที่ 6 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข โดยเรียงจากเงินเฟ้อต่ำสุดไปเงินเฟ้อสูงสุด ซึ่งหากพิจารณาแล้ว เงินเฟ้อไทยถือว่าอ่อนตัวในระดับเหมาะสม และยังอยู่ในภาวะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งราคาเชื้อเพลิง ราคาอาหารสด-เนื้อสัตว์ และฐานเงินเฟ้อในปีก่อนหน้าค่อนข้างสูงมากผลจากราคาน้ำมันปีก่อน เคลื่อนไหวเกิน 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้เคลื่อนไหว 74-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงมีผลต่อสินค้าและบริการสูงกว่าปีนี้ และมีผลต่อเงินเฟ้อสูง
- สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาส 2/66 พบว่าลดลงมาที่ 47 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบครั้งแรกในรอบ 15 เดือน เหตุปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้านทั้งความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล, ค่าครองชีพ-หนี้ครัวเรือนสูง, เศรษฐกิจชะลอตัว, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเดิมหมดลง, ภาครัฐชะลอการเบิกจ่ายเพื่อรอรัฐบาลใหม่, ช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง
.jpg)