ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 7.07 เหรียญ หรือ 0.37% อยู่ที่ระดับ 1,932.51 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 6.10 เหรียญ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,937.1 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 6.40 เซนต์ หรือ 0.27% ปิดที่ 23.281 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 2.40 เหรียญ หรือ 0.26% ปิดที่ 932.40 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 0.31 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 914.95 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 6.95 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 2.69 ตัน
- ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ก.ค.66 อยู่ที่ระดับ 53.65 ปรับลดลง 12.06 จุด หรือ 18.36% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.66 ที่ระดับ 65.71 จุด โดยมีปัจจัยมาจากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง
- สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า ประเทศที่นำทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นทองคำกลับประเทศนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกอายัดทรัพย์เหมือนกับรัสเซีย หลังจากชาติตะวันตกพร้อมใจกันออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อกรณีที่ยกพลบุกโจมตียูเครน ขณะที่ประเทศต่าง ๆ แห่ซื้อทองคำเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
- บริษัทจัดการด้านการลงทุนของสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจนักลงทุนที่เป็นประเทศระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากต้องการหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และราคาตราสารหนี้ที่มีความผันผวน โดยจีนและตุรกีซื้อทองคำรวมกันแล้วคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของการซื้อทองคำในช่วงเวลาดังกล่าว
- ผลสำรวจของอินเวสโกพบว่า 68% ของธนาคารกลางถือครองทองคำสำรองไว้ภายในประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 50% ในปี 2563 และในเวลา 5 ปี ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะ 74%
- นักวิเคราะห์จากบริษัท FXTM กล่าวว่า หากดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ของสหรัฐชะลอตัวลงก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าเฟดใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจจะช่วยหนุนราคาทองคำดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1,940 ดอลลาร์ หรืออาจจะสูงถึงระดับ 1,960 ดอลลาร์
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.35 จุด หรือ -0.34% มาอยู่ที่ระดับ 101.59 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 3.972% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 4.877% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.91%
- นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทโนมูระคาดว่า ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่นำโดยนางโซนัล วาร์มาระบุว่า อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ในภูมิภาคเอเชีย หรือ “การแยกเศรษฐกิจ” (Decoupling) ออกจากวงจรการคุมเข้มนโยบายการเงินที่นำโดยเฟด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่แตกต่างกันในเอเชีย
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันอังคาร โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนมีมุมมองบวกต่อตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ รวมทั้งความหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,261.42 จุด เพิ่มขึ้น 317.02 จุด หรือ +0.93%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,439.26 จุด เพิ่มขึ้น 29.73 จุด หรือ +0.67%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,760.70 จุด เพิ่มขึ้น 75.22 จุด หรือ +0.55%
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือนมิ.ย.จะเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 4.0% ในเดือนพ.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.3% ในเดือนพ.ค.
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันอังคาร ขานรับการคาดการณ์ที่ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะฟื้นตัว นอกจากนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยหนุนตลาดน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.84 ดอลลาร์ หรือ 2.52% ปิดที่ 74.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.71 ดอลลาร์ หรือ 2.20% ปิดที่ 79.40 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์
- ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจากจีนและประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับการที่กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดการผลิตน้ำมันนั้น อาจจะทำให้ตลาดน้ำมันโลกเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงก็ตาม
- ซาอุดี อารามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้แจ้งต่อลูกค้าบางรายในเอเชียตอนเหนือว่า จะจัดส่งน้ำมันดิบให้ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการในเดือนส.ค. ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ระบุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วันต่อไปอีก 1 เดือนจนถึงเดือนส.ค. และปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบเกือบทุกประเภทที่ส่งให้กับลูกค้าในเอเชียติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- กองทัพยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียเปิดฉากโจมตีทางอากาศในกรุงเคียฟของยูเครนในช่วงเช้าตรู่เมื่อวานนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่การประชุมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ลิทัวเนียจะเริ่มขึ้น โดยการประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซีย
- สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานว่า นางคิม โยจอง น้องสาวผู้ทรงอิทธิพลของ นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือออกมากล่าวหาว่าเครื่องบินสอดแนมของกองทัพสหรัฐรุกล้ำเข้าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ (EEZ) ถึง 8 ครั้ง
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55 -34.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.45-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการ GDP ปี 66 ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อน ซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข ขณะเดียวกัน ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 66 เป็น 2.25% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2.00% พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะลดลงมาเหลือ 1.8% จากเดิม 2.8% ส่วนค่าเงินบาทในปีนี้ ยังคงประมาณการไว้ที่ 33.50 – 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้ Fitch คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 2.6% ในปี 2565 เป็น 3.7% และ 3.8% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 29 ล้านคน จาก 11.2 ล้านคน ในปี 2565 ประกอบกับ การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ และมีสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ลดลง
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง