• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2566

    24 กรกฎาคม 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -7.6 เหรียญ หรือ -0.39% อยู่ที่ระดับ 1,961.95 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 4.30 เหรียญ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,966.60 เหรียญ แต่สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้ และปรับตัวขึ้นราว 1.6% แล้วในเดือนนี้
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 10.70 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 24.855 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 8.10 เหรียญ หรือ 0.84% ปิดที่ 972.20 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 5.2 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 919.0 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 2.9 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 1.36 ตัน

ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง 


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.3 จุด หรือ 0.3% มาอยู่ที่ระดับ 101.09 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 3.849% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 4.857% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-1.01%


  • ผู้วิเคราะห์ของรอยเตอร์ระบุว่า ธนาคารกลางหลายแห่งอาจจะยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ว่าการยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะส่งผลให้นักลงทุนหันมาเข้าซื้อพันธบัตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมดิ่งลงทั่วทั้งภาคเศรษฐกิจ แต่ธนาคารกลางไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ดังนั้นธนาคารกลางจึงอาจจะหันไปใช้วิธีเร่งรัดการปรับลดขนาดงบดุลลง หรือเร่งรัดการคุมเข้มเชิงปริมาณ (QT) เพื่อทำให้ภาวะการเงินตึงตัวแทนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


  • บริษัทฟิทช์ระบุว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างมากทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยของประเทศทั่วโลกสูงเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมองว่าธนาคารกลางของหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่จะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่คุมเข้มนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญก่อน


  • ตลาดการเงินจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกในสัปดาห์นี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมในวันที่ 25-26 ก.ค. ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะจัดการประชุมในวันที่ 27 ก.ค. และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะจัดการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค.


  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%


  • นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งอาจเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ ECB ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ


  • ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค.นี้ หลังจากญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน


  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นสัญญาณใหม่ที่บ่งชี้ถึงการปรับขึ้นของราคาในวงกว้าง และทำให้มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจปรับนโยบายการเงิน


  • แหล่งข่าวกล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ไว้ตามเดิมในการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค. ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายของบีโอเจต้องการจะรอดูข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าค่าแรงและอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะยังคงปรับขึ้นต่อไป

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 10 ในวันศุกร์ โดยทำสถิติขาขึ้นยาวนานที่สุดในรอบเกือบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2560


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,227.69 จุด เพิ่มขึ้น 2.51 จุด หรือ +0.01%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,536.34 จุด เพิ่มขึ้น 1.47 จุด หรือ +0.03%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,032.81 จุด ลดลง 30.50 จุด หรือ -0.22%


  • นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าลงทุนในหุ้นไต้หวันมากที่สุดในรอบหลายปีโดยไม่สนใจความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่หุ้นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ้นบริษัทผลิตชิปพุ่งขึ้น ทั้งนี้ กระแสการลงทุนในหุ้นไต้หวันได้ช่วยหนุนดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกมากที่สุดในรอบ 40 ปีด้วย


  • รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) กล่าวว่าจะมีการเปิดเผยนโยบายใหม่ 2 รายการในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ไม่ใช่ของรัฐ หลังความเชื่อมั่นลดลง


  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ภาวะตื่นตระหนกด้านราคาพลังงานจากผลพวงของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและปัญหาอุปทานแรงงานจากผลพวงของโรคโควิด-19 ระบาด ได้บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อังกฤษจะขยายตัวเพียง 0.4% ในปี 2566 และขยายตัว 1% ในปี 2567


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ โดยสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐและน้ำมันดิบโลกปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกจะตึงตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.42 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 77.07 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 2.3% ในรอบสัปดาห์นี้
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 81.07 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 1.5% ในรอบสัปดาห์นี้


  • ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากการที่จีนประกาศว่า จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนอุปสงค์น้ำมันจากจีน และจะช่วยดันราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นในที่สุด

ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ



  • กระทรวงการคลังสหรัฐและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า สหรัฐได้ออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทอูราล ไมน์นิ่ง แอนด์ เมทัลเลอร์จิคอล คอมปะนี (UMMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ของรัสเซีย เพื่อลดรายได้ของรัสเซียจากภาคโลหะและเหมืองแร่ โดยสหรัฐกำหนดเส้นตายในการยุติการทำธุรกรรมกับ UMMC ในวันที่ 18 ต.ค. 2566


  • รัสเซียเขย่าตลาดธัญพืชโลกด้วยการเพิ่มความรุนแรงในทะเลดำ โดยระดมโจมตีทางอากาศใส่ท่าเรือยูเครนหลายแห่งติดต่อกัน พร้อมขู่โจมตีเรือทุกลำที่มุ่งหน้าไปยังยูเครน ขณะที่ยูเครนก็ตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.41 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.50 บาทต่อดอลลาร์


  • อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 2 ส.ค.66 น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% จะทำให้อัตราดอกเบียนโยบายของไทยมาอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งภาคการบริโภค การลงทุน ภาคการท่องเที่ยวและตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและอยู่ในกรอบเป้าหมาย


  • ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) โดยมาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสินเชื่อที่ดี โดยจะยังไม่มีการยกเลิกหรือขยับเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นการทั่วไป




ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com