ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวเพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 14.19 เหรียญ หรือ 0.73% อยู่ที่ระดับ 1,959.34 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 14.7 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 1,960.4 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 14.7 ดอลลาร์ หรือ 0.7% สู่ระดับ 1,999.90 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวลงราว 0.3% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 24.50 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 943.70 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.89 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 912.93 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 8.97 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 4.71 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.01 จุด หรือ 0.01% มาอยู่ที่ระดับ 101.7 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 3.973% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.893% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.92%
- กลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่า ค่าเงินของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในปีนี้จะแข็งแกร่งหรืออ่อนแอนั้นขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยนักวิเคราะห์ที่มีมุมมองเชิงบวกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตแข็งแกร่งเพียงพอที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า BOJ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยการปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่จะขัดขวางการขายพันธบัตรที่เกิดจากการคาดเดาต่าง ๆ ทั้งนี้ การตัดสินใจของ BOJ ที่จะปล่อยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นเหนือระดับเพดานที่ 0.5% นั้นเป็นการป้องกันล่วงหน้าสำหรับแนวโน้มขาขึ้น ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้น โดย BOJ ยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ รวมถึงดัชนี S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ปิดบวกในรอบสัปดาห์นี้ด้วย หลังจากที่การเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่, การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ และการประกาศนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิ้ง (Soft Landing)
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,459.29 จุด เพิ่มขึ้น 176.57 จุด หรือ +0.50%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,582.23 จุด เพิ่มขึ้น 44.82 จุด หรือ +0.99%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,316.66 จุด เพิ่มขึ้น 266.55 จุด หรือ +1.90%
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 3.8% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือนพ.ค.
- ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 4.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ชะลอตัวลงจากระดับ 0.3% ในเดือนพ.ค.
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเยอรมนีคาดว่าจะมีเสถียรภาพในเดือนส.ค. หลังปรับลดลงเล็กน้อยในเดือนก.ค. เนื่องจากความหวังของภาคครัวเรือนที่มีต่อการลดลงของเงินเฟ้อทำให้การคาดการณ์รายได้สดใสขึ้นอย่างมาก โดยรายงานระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -24.4 ในช่วงเข้าสู่เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ -25.2 ในเดือนก.ค. และดีกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ -24.7
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกันแล้ว เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่า อุปสงค์ที่แข็งแกร่งและการปรับลดการผลิตจะยังคงช่วยหนุนราคา
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 49 เซนต์ หรือ 0.72% ปิดที่ 80.58 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 4.6% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 75 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 84.99 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 4.8% ในรอบสัปดาห์นี้
- ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ใกล้จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งจะสนับสนุนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันเมื่อต้นเดือนนี้ฃ
- นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซแบงก์คาดว่า การผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกในเดือนนี้อาจลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2564 และคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะปรับลดการผลิตลงอีกในเดือนก.ย.
- เบเกอร์ ฮิวจ์ส ซึ่งเป็นบริษัทบริการด้านพลังงานเปิดเผยในวันศุกร์ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐลดลง 1 แท่นสู่ระดับ 529 แท่นในสัปดาห์นี้
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- สหรัฐเปิดเผยแพ็กเกจจัดหาอาวุธให้กับไต้หวันมูลค่าสูงถึง 345 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับจีน แม้ว่าฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธในแพ็กเกจดังกล่าวต่อสาธารณะก็ตาม
- กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยยิงโดรนของยูเครนร่วง 3 ลำ เนื่องจากโดรนเหล่านี้พยายามที่จะก่อเหตุโจมตีกรุงมอสโก โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดเผยว่า ตนเองไม่เคยปฏิเสธแนวคิดเรื่องการเจรจาสันติภาพเกี่ยวกับยูเครน โดยโครงการด้านสันติภาพของแอฟริกาและจีนก็อาจจะเป็นพื้นฐานสำหรับโครงการสันติภาพกับยูเครนก็เป็นได้
- รองนายกรัฐมนตรีจีนตั้งความหวังว่า ฝรั่งเศสจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพยุโรป (EU) มีเสถียรภาพ ภายหลังการประชุมร่วมกันกับนายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศส
- กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ ว่า เรือรบจีน 5 ลำและเรือรบรัสเซีย 5 ลำได้เล่นผ่านช่องแคบโซยาระหว่างเกาะฮอกไกโดและซาคาลินไปยังทะเลโอคอตสค์ ซึ่งอาจจะเป็นการลาดตระเวนร่วมกันในมหาสมุทรแปซิฟิก
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ โดยนักบริหารการเงินชี้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงจากท่าทีจีนพร้อมออกมาตรการกระตุ้นศก. แต่ยังต้องจับตากนง.ขึ้นดบ. และรอความชัดเจนโหวตเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลผสม มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (31 ก.ค.-4 ส.ค.) ที่ระดับ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (2 ส.ค.) สถานการณ์การเมืองไทยและทิศทางเงินทุนต่างชาติ
- นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนส.ค. จะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินอย่างแน่นอน และจะทำให้กระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น ช่วยผลักดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศทดสอบระดับ 1,600 จุดได้
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า การจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเห็นความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจต่อการกำหนดแผนการลงทุนในอนาคต และจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในส.ค.หรือก.ย.นี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 ก็มีโอกาสจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับ 3.5%
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 66 พบว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นหนี้ในระบบประมาณ 80% และอีก 20% เป็นหนี้นอกระบบ โดยกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนมาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมา รายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ
- Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ผู้ส่งออกไทย จะยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่ครึ่งปีแรกหดตัวไปแล้ว 5.4% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นบวก จากผลของฐานปีก่อนที่ต่ำลง แต่มูลค่าการส่งออกต่อเดือน อาจฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) ยังอยู่ในระดับหดตัวต่อเนื่อง
- สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทย ในเดือนมิ.ย.66 อยู่ที่ 24,826 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 6.4%YoY เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 แต่หดตัวน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ -7.3% โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง และภาคธุรกิจเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัว 65.9% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ติดลบ 5.1%YoY ทั้งนี้ การส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 5.4%
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง