ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -0.49 เหรียญ หรือ -0.03% อยู่ที่ระดับ 1,934.23 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ทส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 6.20 เหรียญ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,968.80 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 18 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 23.70 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 8.60 เหรียญ หรือ 0.9% ปิดที่ 921.80 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 3.18 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 906.0 ตันภาพรวมเดือนสิงหาคม ขายสุทธิ 6.93 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 11.64 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.13 จุด หรือ -0.13% มาอยู่ที่ระดับ 102.45 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.1 % มาอยู่ที่ระดับ 4.181% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.0 % มาอยู่ที่ระดับ 4.883% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.7%
- ธนาคารกลาง 6 แห่งในกลุ่มประเทศจี-10 ได้จัดการประชุมในเดือนก.ค. และธนาคารกลาง 3 แห่งจาก 6 แห่งนี้ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งประกอบด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50%, ธนาคารกลางแคนาดาที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.0% และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% สู่ 3.75% ส่วนธนาคารกลาง 3 แห่งในกลุ่มนี้ที่คงอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.รวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ), ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.5% และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.1%
- นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตากล่าวว่า ขณะที่เขาจะสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ถ้าเศรษฐกิจมีพัฒนาการเป็นไปตามที่เขาคาดไว้ แต่เขาก็ไม่คาดว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายจนกว่าจนจะถึงปีหน้า
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 9 ปีในเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะปรับตัวลง หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เข้าแทรกแซงอีกครั้งเพื่อชะลออัตราความเร็วของการพุ่งขึ้น โดยบีโอเจเสนอที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5-10 ปีมูลค่า 3.00 แสนล้านเยน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3-5 ปีมูลค่า 1.00 แสนล้านเยน หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นมาที่ 0.655% เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเม.ย.2014
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนตลอดวัน โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,215.89 จุด ลดลง 66.63 จุด หรือ -0.19%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,501.89 จุด ลดลง 11.50 จุด หรือ -0.25%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,959.72 จุด ลดลง 13.73 จุด หรือ -0.10%
- นายริชาร์ด ฟรานซิส หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐของฟิทช์ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของสหรัฐ ลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA ว่า“สิ่งสำคัญที่เห็นในสหรัฐมาเป็นเวลานานหลายปีก็คือ สถานะการคลังที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 หนี้สินโดยรวมของรัฐบาลอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60% แต่ขณะนี้อยู่ในระดับสูงถึง 113% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐถดถอยลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่ายอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐจะพุ่งขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าภาระหนี้สินของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน” ส่วนการที่สหรัฐจะกลับมาได้อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ AAA ได้นั้น นายฟรานซิสกล่าวว่า ฟิทช์จะจับตาดูแนวทางการแก้ปัญหาด้านการคลังหลังจากที่รัฐบาลได้นำเสนอโครงการต่าง ๆ รวมทั้งจับตารายได้ และรายจ่ายของรัฐบาลในโครงการเหล่านั้นด้วย
- ซีอีโอของเจพีมอร์แกนกล่าวว่า การที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐนั้น ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตลาดเป็นตัวกำหนดต้นทุนการกู้ยืม ไม่ใช่สำนักงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” นายไดมอนกล่าว
- ฝ่ายวิจัยโลกจากแบงก์ ออฟ อเมริกา (บีโอเอฟเอ) คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวอย่างนุ่มนวล และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จากข้อมูลเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา และไม่คาดการณ์อีกต่อไปว่า เศรษฐกิจจะถดถอยเล็กน้อยในปีหน้า และคาดว่าจีดีพีแท้จริงจะเพิ่มขึ้น 2.0% โดยเฉลี่ยในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ที่คาดไว้ก่อนหน้า
- บริษัทฟิทช์ เรทติงส์ระบุว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของญี่ปุ่นอาจจะไม่ทำให้ความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยฟิทช์ยังคงเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ในระยะกลาง และคาดว่า บีโอเจจะยังคงยอมให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมายชั่วคราว
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และลดลงมากเกินคาดในเดือนมิ.ย. โดยข้อมูลที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอย่างมากอาจจะคลายกังวลให้แก่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ทั้งนี้ ดัชนี PPI ในยูโรโซนลดลง 0.4% ในเดือนมิ.ย.จากเดือนพ.ค. และลดลง 3.4% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะลดลง 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และจะลดลง 3.1% เมื่อเทียบรายปี
- กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนตกต่ำลงมากกว่าคาดในเดือนก.ค. เนื่องจากภาคการผลิตร่วงลง และภาคบริการก็ชะลอตัวลงอีก ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 48.6 ในเดือนก.ค. จาก 49.9 ในเดือนมิ.ย.
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี ขานรับแนวโน้มอุปทานน้ำมันตึงตัว หลังจากซาอุดีอาระเบียขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน และรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 2.06 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 81.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.94 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 85.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย แถลงว่า รัสเซียจะลดการส่งออกน้ำมันจำนวน 300,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ย.
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- ประชากรชาวยูเครนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองได้ถูกบังคับให้เปลี่ยนไปถือสัญชาติรัสเซีย มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการถูกลงโทษอย่างรุนแรงเป็นการตอบโต้ รวมถึงการถูกเนรเทศหรือการถูกคุมขัง
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ หลังการเมืองในประเทศกดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทย ไฮไลท์วันนี้อยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฝั่งไทยลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่และโหวตเลือกนายกฯ
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเดินหน้าปรับนโยบายการเงินไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายนนี้ สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 10.923 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เทียบกับยอดหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพ.ค. อยู่ที่ 10.959 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.63% ของจีดีพี
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง