ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันอังคาร เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -11.43 เหรียญ หรือ -0.59% อยู่ที่ระดับ 1,925.16 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 10.10 เหรียญ หรือ 0.51% ปิดที่ 1,959.90 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 42.50 เซนต์ หรือ 1.83% ปิดที่ 22.807 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 22.70 เหรียญ หรือ 2.45% ปิดที่ 904.20 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 903.69 ตันภาพรวมเดือนสิงหาคม ขายสุทธิ 9.24 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 13.95 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.48 จุด หรือ 0.47% มาอยู่ที่ระดับ 102.55 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 4.026% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 4.758% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.73%
- เอดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์จากบริษัท OANDA กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ดอลลารแข็งค่าเมื่อคืนนี้ มาจากการที่นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากผิดหวังข้อมูลการค้าของจีน และมีความวิตกกังวลต่อการที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารหลายแห่งในสหรัฐ
- นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวถึงเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และการคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงินในสหรัฐ โดยระบุว่า เราจำเป็นต้องรักษาจุดยืนด้านนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปอีกสักระยะ แต่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนอุปทานและอุปสงค์ในเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งหากเงินเฟ้อเริ่มลดลงก็เป็นเรื่องปกติที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้า เพื่อรักษาจุดยืนด้านนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจซึ่งกำลังเติบโต และสำหรับเงินเฟ้อที่กำลังเคลื่อนลงสู่ระดับ 2%
- นายจอห์น ซี. วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คคาดว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะเริ่มปรับลดลงในปีหน้า โดยเขาไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ที่จะมีการลดดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงตามที่เขาหวังไว้แล้ว และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 4% ในปีหน้า
- นักลงทุนคาดการณ์กันในตอนนี้ว่า มีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. และมีโอกาส 100% ที่เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกก่อนสิ้นเดือนพ.ค. 2024 ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเฟดอาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่จุดสูงสุดของวัฏจักรเป็นเวลานานราว 8 เดือน ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร หลังจากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐ 10 แห่ง ซึ่งส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของธนาคารต่าง ๆ และแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,314.49 จุด ลดลง 158.64 จุด หรือ -0.45%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,499.38 จุด ลดลง 19.06 จุด หรือ -0.42%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,884.32 จุด ลดลง 110.07 จุด หรือ -0.79%
- นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.8% ในเดือนมิ.ย.
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐ 10 แห่ง และเตือนว่าขณะนี้มูดี้ส์กำลังทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารรายใหญ่บางแห่งของสหรัฐ ทั้งนี้ มูดี้ส์ได้ปรับลดอันดับความเชื่อถือของธนาคารสหรัฐ 10 แห่งลง 1 ขั้น โดยธนาคารเหล่านี้รวมถึงเอ็มแอนด์ที แบงก์ (M&T Bank), พินนาเคิล ไฟแนนเชียล พาร์ทเนอร์ (Pinnacle Financial Partners), พรอสเพอริตี แบงก์ (Prosperity Bank) และบีโอเค ไฟแนนเชียล คอร์ป (BOK Financial Corp)
- ผลสำรวจล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ผู้บริโภคในยูโรโซนได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงสำหรับในช่วงหลายเดือนและหลายปีข้างหน้า แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อและราคาบ้าน โดยผู้ตอบแบบสำรวจฉบับเดือนมิ.ย.คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3.4% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ 3.9% ในเดือนก่อนหน้าและเป็นการลดลงเพิ่มเติมหลังจากเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เนื่องจากเงินเฟ้อที่แท้จริงเริ่มเติบโตชะลอตัวลง
- ยอดส่งออกและยอดนำเข้าของจีนดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือนก.ค. ซึ่งส่งผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนให้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ ยอดนำเข้าของจีนดิ่งลง 12.4% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ในขณะที่โพลล์รอยเตอร์คาดว่ายอดนำเข้าอาจลดลงเพียง 5% ส่วนยอดส่งออกของจีนหดตัวลง 14.5% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2020 หลังจากหดตัวลง 12.4% ในเดือนมิ.ย. และเทียบกับโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่าอาจหดตัวลง 12.5% ในเดือนก.ค.
- กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นเดือนมิ.ย. ปรับตัวลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยกดดันการใช้จ่าย
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันถูกกดดันในระหว่างวัน หลังจากจีนเปิดเผยยอดส่งออกและนำเข้าทรุดตัวลง
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 98 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 82.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 83 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 86.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
- การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ยังคงมีการเพิ่มปริมาณสต็อกน้ำมันในประเทศ และการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังต่างประเทศพุ่งขึ้น โดยยอดนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดในเดือนก.ค.อยู่ที่ 43.69 ล้านตัน หรือ 10.29 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากยอดนำเข้าที่ระดับ 8.79 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางแผนที่จะผลักดันการใช้เงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียในการทำธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายที่จะลดความผันผวนของสกุลเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเห็นสัญญาณการซึมตัวต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่มิ.ย.-ก.ค. เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจขาดแรงขับเคลื่อน ซึ่งหากความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังลากยาวเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดโมเมนตัมที่จะไปในทิศทางขาขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย ยังหวังว่าจะเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่เกินเดือนก.ย.นี้ เพื่อให้มีนโยบายเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ ซึ่งจะยังช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 66 นี้ สามารถเติบโตได้ 3.5% ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
- ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะทรงตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งต้องรอลุ้นว่าช่วงครึ่งปีหลังภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบเร่ง โดย สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีไว้ตามเดิมว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ -0.5 ถึง 1% หรือมีมูลค่าการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 285,600-290,000 ล้านดอลลาร์
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง