ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 5.77 เหรียญ หรือ 0.3% อยู่ที่ระดับ 1,920.19 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 6.90 เหรียญ หรือ 0.36% ปิดที่ 1,946.80 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.8 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 24.252 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 24 เหรียญ หรือ 2.53% ปิดที่ 972.20 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 2.6 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 886.64 ตันภาพรวมเดือนสิงหาคม ขายสุทธิ 26.29 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 31.0 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.27 จุด หรือ -0.26% มาอยู่ที่ระดับ 103.92 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.204% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 5.052% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.85%
- นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. และเทน้ำหนักมากกว่า 50% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ย. หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมการที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 78.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 21.5% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%
- นักลงทุนระบุว่า สิ่งที่สำคัญคือตัวเลขเศรษฐกิจที่สหรัฐจะรายงานออกมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งรวมถึงตัวเลขการจ้างงานสหรัฐประจำเดือนส.ค.ที่กระทรวงแรงงานจะรายงานออกมาในวันที่ 1 ก.ย. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันที่ 13 ก.ย. โดยนายแอนเดอร์ส เพอร์สัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้โลกของบริษัทนูวีนกล่าวว่า นายพาวเวลล์รอดูตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงนี้ เพื่อที่เฟดจะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไป
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้น 3M และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและการจ้างงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,559.98 จุด เพิ่มขึ้น 213.08 จุด หรือ +0.62%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,433.31 จุด เพิ่มขึ้น 27.60 จุด หรือ +0.63%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,705.13 จุด เพิ่มขึ้น 114.48 จุด หรือ +0.84%
- เซี่ยงไฮ้ต้อนรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า 139 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 1.55 แสนล้านหยวน โดยตัวเลขทั้งสองเติบโตกว่า 100% เมื่อเทียบปีต่อปี
- ทางการจีนขอให้กองทุนรวมบางแห่งหลีกเลี่ยงการขายหุ้นสุทธิ (ขายมากกว่าซื้อ) เป็นเวลาหนึ่งวัน หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของจีนประกาศมาตรการหลายอย่างเพื่อ “กระตุ้นตลาดทุนและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน”
- กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลง 6.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรม ส่วนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนร่วงลง 15.5% สู่ระดับ 3.94 ล้านล้านหยวน หลังจากที่ดิ่งลง 16.8% ในช่วง 6 เดือนแรก
- นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเปิดเผยว่า มาเลเซียจะสร้าง “เขตการเงินพิเศษ (special financial zone)” ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ของบริษัทคันทรี การ์เดน (Country Garden) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน พร้อมทั้งเสนอนโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน
- รัฐบาลญี่ปุ่นเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ซึ่งใช้วัดแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจากข้อมูลต่าง ๆ หดตัวลง 0.2 จุด จากระดับ 109.1 ของเดือนพ.ค. มาอยู่ที่ 108.9 จุด จากระดับฐานในปี 2563 ที่ 100 ตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กิจกรรมโรงงานในญี่ปุ่นหดตัวในเดือนมิ.ย. เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตลดลง ส่วนการเติบโตของภาคบริการชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสี่เดือน
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า พายุโซนร้อน “อิดาเลีย” (Idalia) ที่กำลังก่อตัวขึ้นในอ่าวเม็กซิโก อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในเขตกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 80.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 6 เซนต์ หรือประมาณ 0.1% ปิดที่ 84.42 ดอลลาร์/บาร์เรล
- นักวิเคราะห์จาก Saxo Bank กล่าวว่า ตลาดจับตาพายุโซนร้อนอิดาเลียที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่รัฐฟลอริดา และรอดูว่าราคาน้ำมันเบรนท์จะกลับมายืนที่เหนือระดับ 85 ดอลลาร์ได้อีกหรือไม่ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีน หลังจากที่จีนประกาศลดภาษีอากรสแตมป์สำหรับการซื้อขายหุ้นเมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ35.21 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.30 บาทต่อดอลลาร์
- ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยช่วง 6 เดือนแรก ยังเผชิญอยู่กับปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่เต็มที่ และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนปรับตัวลง ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP อีกทั้งราคาที่อยู่อาศัยยังปรับตัวสูงขึ้น
- สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น 1.7% อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.06% แนวโน้มดีขึ้น ขณะที่หนี้สินครัวเรือน ไตรมาส 1/66 ยังเพิ่มขึ้น 3.6% ยอดหนี้เฉียด 16 ล้านล้านบาท ส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลงเล็กน้อย จับตาสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียพุ่ง 30% แนวโน้มเพิ่มขึ้น
- Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ของประเทศตลาดหลักยังซบเซา โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ติดลบต่อเนื่อง (มูลค่าส่งออก 7 เดือนแรก หดตัว 5.0%YoY) สะท้อนถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวและยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของประเทศตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรป หดตัวต่อเนื่องในเดือน ส.ค. จากเครื่องชี้ Flash Manufacturing PMI อยู่ในโซนหดตัว จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับลดลง ทำให้ผู้ผลิตลดการสต็อกวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูปลง ขณะที่จีนกลับมาหดตัวในเดือน ก.ค. สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน (Industrial production) ที่ชะลอลง
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง