
ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดทองคำนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะแถลงมติการประชุม
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -0.74 เหรียญ หรือ -0.04% อยู่ที่ระดับ 1,930.62 เหรียญ
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 13.40 ดอลลาร์ หรือ 0.69% ปิดที่ 1,967.10 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 1.62% ปิดที่ 23.836 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 6.10 ดอลลาร์ หรือ 0.64% ปิดที่ 942.30 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 0.58 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 878.25 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ขายสุทธิ 11.85 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 39.39 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.33 จุด หรือ 0.31% มาอยู่ที่ระดับ 105.43 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 4.411% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 5.17% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.76% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในปีนี้
- ด้านการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (dot plot) แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งสู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะ 3.9% ภายในช่วงสิ้นปี 2568
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20%
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท KPMG UK กล่าวว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่สามารถสกัดกั้นธนาคารกลางอังกฤษจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันพรุ่งนี้ ในขณะที่มีความกังวลเรื่องราคาน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันทะยานขึ้นมาแล้วกว่า 25% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. และอาจจะมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาอาหารในตลาดโลกด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอการร่วงลง และอาจจะส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อดีดขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างความกังวลต่อบีโออี
- ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนในสหราชอาณาจักรของ UBS กล่าวว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะยังคงมีแนวโน้มที่จะขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ และเชื่อว่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้าย เนื่องจากมีอัตราเงินเฟ้อมีแรงกดดันที่ลดลง
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากราคาสินค้าและบริการของบรรดาซัพพลายเออร์ในเกาหลีใต้ ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี PPI เดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายดือน หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค.
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,440.88 จุด ลดลง 76.85 จุด หรือ -0.22%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,402.20 จุด ลดลง 41.75 จุด หรือ -0.94%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,469.13 จุด ลดลง 209.06 จุด หรือ -1.53%
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนก.ย. ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิ.ย.ว่าจะขยายตัวที่ 2.7% แต่ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงสู่ 2.7% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิ.ย.ว่าอาจขยายตัว 2.9% ทั้งนี้ OECD ระบุว่า เศรษฐกิจโลกปรับตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ โดยนโยบายการเงินที่เริ่มส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้นและเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าในปีนี้
- สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) เปิดเผยว่า หนี้โลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 แม้อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจำกัดการให้สินเชื่อของธนาคารก็ตาม โดยหนี้ทั่วโลกในรูปสกุลดอลลาร์พุ่งขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดนี้ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันสู่ระดับ 336% ทำให้จีดีพีที่เป็นตัวเงินขยายตัวช้ากว่าระดับหนี้
- กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า หนี้สาธารณะของสหรัฐซึ่งเป็นจำนวนเงินที่รัฐบาลกลางกู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 33.04 ล้านล้านดอลลาร์ ณ วันจันทร์ (18 ก.ย.)
- เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐกล่าวในวันอังคารว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นจะต้องชะลอการเติบโตลง เพื่อที่อัตราการเติบโตจะได้สอดคล้องกับอัตราศักยภาพมากยิ่งขึ้น และปัจจัยนี้จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายได้ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีภาวะการจ้างงานเต็มที่ในช่วงนี้ นอกจากนี้ เธอยังกล่าวเสริมว่า ภาวะไม่สมดุลด้านอุปสงค์-อุปทานในตลาดแรงงานได้ลดระดับลงแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ
- เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับราว 1.8% ในปัจจุบัน แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐยังคงเติบโตสูงกว่าระดับดังกล่าว โดยจีดีพีเติบโต 2.1% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียอาจจะขยายตัวน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนและความเสี่ยงที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้
- บริษัทซูแนค ไชน่า โฮลดิ้งส์ หรือ “หรงช่วง” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยื่นเรื่องล้มละลายตามมาตรา 15 (Chapter 15) ต่อศาลล้มละลายของสหรัฐ เพื่อขอให้ศาลคุ้มครองบริษัทจากเจ้าหนี้
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 9.3048 แสนล้านเยน (6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากอุปสงค์สินค้าญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศที่อ่อนแอลง และการที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการที่เข้มงวดด้านการค้า
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดในการประชุมครั้งล่าสุด แต่ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมัน และบดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 92 เซนต์ หรือ 1.0% ปิดที่ 90.28 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 81 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 93.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- จีนออกโรงกล่าวหาว่าสหรัฐได้เจาะเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทหัวเว่ย (Huawei) อย่างต่อเนื่อง และโจมตีทางไซเบอร์เพื่อล้วงข้อมูลสำคัญอื่น ๆ นับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งครั้งล่าสุดระหว่างจีนและสหรัฐ หลังความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศทวีความร้อนแรง
- เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) ว่า ญี่ปุ่นได้ขอให้จีนนำทุ่นลอยน้ำของจีนออกจากน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะที่ทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 36.25 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิดตลาดเมื่อวานที่ 36.08 บาท/ดอลลาร์ มองกรอบวันนี้เคลื่อนไหวในช่วง 36.15 -36.50 บาท/ดอลลาร์
- นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ชี้ว่า เงินบาทอ่อนค่าหนักกว่าสกุลเงินเอเชียอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมาจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบอนด์ หลังนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจต่อแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล นอกจากนี้ คาดว่าเงินบาทจะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าได้นานกว่าคาด ตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูง
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง
.jpg)