ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาณทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังจากข้อมูลแรงงานล่าสุดของสหรัฐทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -4.99 เหรียญ หรือ -0.27% อยู่ที่ระดับ 1,822.9 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4.40 เซนต์ หรือ 0.21% ปิดที่ 21.377 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 7.20 ดอลลาร์ หรือ 0.81% ปิดที่ 879.60 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.73 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 873.35 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ขายสุทธิ 0.29 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 44.29 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.03 จุด หรือ 0.03% มาอยู่ที่ระดับ 107.05 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.11 % มาอยู่ที่ระดับ 4.795% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 5.154% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.36% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายไมเคิล บาร์ รองประธานฝ่ายกำกับดูแลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เขารู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดกำลัง "อยู่ที่หรือใกล้" ระดับที่เข้มงวดพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% ของเฟด
- ลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า เฟดอาจจะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่แล้วเสร็จท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อยังคง "สูงเกินไป" พร้อมกับระบุว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านราคากำลังชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเข้าสู่ภาวะสมดุลดีขึ้น แต่แม้ว่าแรงกดดันด้านราคาลดลง แต่ความเสี่ยงต่อคาดการณ์เงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
- สหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ซึ่งพบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง
- นักวิเคราะห์กล่าวว่า หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลข Job Openings ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันอังคาร หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานสูงกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดกังวลว่าข้อมูลดังกล่าวจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,002.38 จุด ลดลง 430.97 จุด หรือ -1.29%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,229.45 จุด ลดลง 58.94 จุด หรือ -1.37% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,059.47 จุด ลดลง 248.31 จุด หรือ -1.87%
- นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทบีเอ็มโอ แคปิตัล มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในขณะที่เราเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2023"
- นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลียกล่าวว่า ตลาดการเงินมุ่งความสนใจไปยังแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในช่วงนี้ และมีแนวโน้มว่าแรงเทขายพันธบัตรจะดำเนินต่อไป ตราบใดที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในยูโรโซนทำให้อัตราเงินเฟ้อภายในเขตยูโรเพิ่มขึ้นต่อไป แต่การขึ้นเงินเดือนน่าจะชะลอตัวในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร โดยได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยพยุงราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก หลังจากที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากผลกระทบของดอลลาร์ที่แข็งค่า
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 89.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 90.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
- รอยเตอร์ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ โดยผลสำรวจคาดว่า มาตรการปรับลดอุปทานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียมีแนวโน้มที่จะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันต่อไป อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นเข้าใกล้ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้เป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะว่าราคาน้ำมันจะยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
- นักเศรษฐศาสตร์สินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทแคปิตัล อิโคโนมิคส์กล่าวว่า "ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจะเป็นผู้ควบคุมราคาน้ำมันในช่วง 3 เดือนข้างหน้า และมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศนี้จะยังคงดำเนินมาตรการปรับลดอุปทานน้ำมันต่อไปในปี 2024 เพราะว่าทั้งสองประเทศนี้ไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันดิ่งลงในช่วงที่รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น
- นักยุทธศาสตร์การลงทุนสัญญาล่วงหน้าพลังงานของธนาคารมิสุโฮกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลกอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2024 ซึ่งจะส่งผลลบต่ออุปสงค์น้ำมัน และอุปสงค์น้ำมันก็อาจจะได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีน
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ อยู่ที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่าลง" จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ระดับ 36.90-37.20 บาท/ดอลลาร์
- นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง แต่คงไม่เข้าไปแทรกแซง โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เฝ้าดูแลอยู่แล้ว มองการที่เงินบาทอ่อนค่าไม่ได้มีผลเสียทั้งหมด เพราะการส่งออกและท่องเที่ยวจะได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท
- นักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์คาดว่า ดอลลาร์/บาทจะยังคงอ่อนค่าต่อไปในช่วง 2 ไตรมาสข้างหน้า เนื่องจากดอลลาร์จะยังคงแข็งค่าจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของเฟด
- นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ธ.กรุงไทย กล่าวว่า ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) 10 ปีสหรัฐ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มที่เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน
- ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และอ่อนค่าผ่านระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ คิดเป็นอ่อนค่าลง 6.75% จากต้นปี สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยการอ่อนค่าในช่วงหลังได้รับผลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด ประกอบกับ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง