ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 63.53 เหรียญ หรือ 3.4% อยู่ที่ระดับ 1,932.36 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 58.50 ดอลลาร์หรือ 3.11% ปิดที่ 1,941.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 5.2% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 93.60 เซนต์ หรือ 4.26% ปิดที่ 22.895 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 8.40 ดอลลาร์ หรือ 0.96% ปิดที่ 884.20 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 862.37 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ขายสุทธิ 11.27 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 55.27 ตัน
- นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะสงครามที่อาจลุกลามในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลเรียกร้องให้ชาวกาซาอพยพออกจากทางตอนเหนือของฉนวนกาซาภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเตรียมการโจมตีภาคพื้นดินเพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาสที่เปิดฉากบุกโจมตีอิสเรลก่อนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.05 จุด หรือ 0.05% มาอยู่ที่ระดับ 106.58 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 4.654% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.0 % มาอยู่ที่ระดับ 5.075% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.42% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายแพทริค ฮาร์เคอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า เขาเชื่อว่าวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดสิ้นสุดลงแล้ว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่มีความไม่แน่นอนในประเด็นที่ว่า เฟดจำเป็นจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นเวลานานเพียงใด โดยกลไกเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เร่งไม่ได้ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะส่งผลเต็มที่ การคงดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมจะปล่อยให้นโยบายการเงินได้ทำงาน
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการสู้รบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ และผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐบ่งชี้ถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,670.29 จุด เพิ่มขึ้น 39.15 จุด หรือ +0.12%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,327.78 จุด ลดลง 21.83 จุด หรือ -0.50%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,407.23 จุด ลดลง 166.99 จุด หรือ -1.23%
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เตือนว่า สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล และฮามาส ในขณะนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในรอบหลายสิบปี รวมทั้งสงครามในยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานและตลาดอาหาร การค้าโลก และความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์
- มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐอยู่ที่ 63.0 ในเดือนต.ค. โดยดิ่งลงจาก 68.1 ในเดือนก.ย. และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 67.2 สำหรับเดือนต.ค. ในขณะที่ภาคครัวเรือนสหรัฐคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในอีก 1 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 3.8% โดยพุ่งขึ้นจาก 3.2% ที่เคยคาดไว้ในเดือนก.ย. แต่ความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานมีแนวโน้มว่าจะยังคงช่วยหนุนปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคต่อไป
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 6% ในวันศุกร์ และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า สงครามในตะวันออกกลางอาจขยายวงกว้าง เนื่องจากอิสราเอลเริ่มบุกโจมตีภาคพื้นดินเข้าสู่ฉนวนกาซา และอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. พุ่งขึ้น 4.78 ดอลลาร์ หรือ 5.8% ปิดที่ 87.69 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 5.9% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 4.89 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 90.89 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 7.5% ในรอบสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นในวันศุกร์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์รายวันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.
- การที่อิสราเอลประกาศโจมตีภาคพื้นดินในฉนวนกาซานั้นทำให้นักลงทุนวิตกว่าสงครามจะขยายวงกว้างขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันของประเทศในตะวันออกกลาง
- สำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันสำหรับปี 2024 ลงสู่ระดับ 880,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า จาก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ขึ้นเป็น 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายขึ้น และความคืบหน้าในเรื่องการใช้พลังงานคุ้มค่าจะกระทบการอุปโภคบริโภค
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กองทัพอิสราเอลสั่งอพยพพลเรือนที่อยู่ใกล้ชายแดนติดกับเลบานอนทันที หลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ยิงขีปนาวุธข้ามพรมแดนคร่าชีวิตไป 1 ราย
- สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานคำแถลงการณ์ของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่ระบุว่า ปฏิบัติการของอิสราเอลในฉนวนกาซา “เกินขอบเขตการป้องกันตัว” และเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอล “ยุติการลงโทษรวมหมู่ต่อประชาชนในฉนวนกาซา”
- นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เตือนว่า สถานการณ์ในขณะนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในรอบหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมทั้งการที่กลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานและตลาดอาหาร การค้าโลก และความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 36.19 บาทต่อดอลลาร์ หลังสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่อเค้าทวีความรุนแรงและเสี่ยงที่จะบานปลายมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.00-36.30 บาทต่อดอลลาร์
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไป
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง