ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -12.36 เหรียญ หรือ -0.62% อยู่ที่ระดับ 1,983.9 เหรียญ
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 11.30 ดอลลาร์ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,994.30 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 44.40 เซนต์ หรือ 1.90% ปิดที่ 22.952 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 5.00 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 944.90 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 859.49 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ขายสุทธิ 14.15 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 58.15 ตัน
- สัญญาทองคำร่วงหลุดจากระดับ 2,000 ดอลลาร์ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
- สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นเฉียดระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในอินเดียอาจส่งผลให้ความต้องการทองคำร่วงลงในช่วงฤดูเทศกาลที่ปกติความต้องการทองคำพุ่งสูง จนเป็นเหตุให้ปริมาณการซื้อทองคำลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี
- สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกไม่รวมการซื้อขายนอกตลาด (OTC) ปรับตัวลดลง 6% ในไตรมาส 3/2566 เนื่องจากแรงซื้อของธนาคารกลางน้อยลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเมื่อปีที่แล้ว และผู้ผลิตอัญมณีใช้ทองคำลดลง
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.51 จุด หรือ 0.48% มาอยู่ที่ระดับ 106.67 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.935% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 5.092% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.16% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- เจ้าหน้าที่สมาชิกธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ในตลาดที่ว่า อีซีบีจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และยกเลิกความพยายามในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อสูง โดยอีซีบีได้ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันในสัปดาห์ที่แล้ว และนักลงทุนปรับตัวรับโอกาสที่จะมีการลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนเม.ย.ปีหน้า แม้คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบียืนกรานว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้นยังคงเร็วเกินไป
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2566 ขึ้นสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.5%
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,052.87 จุด เพิ่มขึ้น 123.91 จุด หรือ +0.38%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,193.80 จุด เพิ่มขึ้น 26.98 จุด หรือ +0.65%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,851.24 จุด เพิ่มขึ้น 61.76 จุด หรือ +0.48%
- สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่ารผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เตือน หากสงครามอิสราเอล-ฮามาสลุกลามเป็นสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซ้ำเติมการค้าโลกที่สภาพ “ค่อนข้างน่ากลัว” อยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีสงคราม เนื่องจากอุปสงค์ต่ำลงทั่วโลก WTO ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการค้าในปี 2023 ลง คาดว่าปริมาณการค้าสินค้าทั่วโลกในปี 2023 นี้จะเติบโตเพียง 0.8% ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนเมษายน 2023 ที่คาดว่าจะโต 1.7% ส่วนปี 2024 WTO คาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 3.3% แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่คาดว่าจะโต 3.2%
- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 188,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8% ในเดือนต.ค.
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร หลังจากมีรายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และสหรัฐ ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังปรับตัวลดลงเนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 81.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 87.41 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ธนาคารโลกคาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 และจะลดลงสู่ระดับเฉลี่ยที่ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทำให้อุปสงค์ลดลง แต่ก็เตือนว่า ข้อพิพาทในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจทำให้ราคาพุ่งขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ โดยระบุว่า หากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกหายไปประมาณ 500,000 บาร์เรล-2 ล้านบาร์เรล/วัน และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นแตะระดับ 93-102 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่กองทัพอิสราเอลไม่นำกำลังทั้งหมดเข้าปฏิบัติการจู่โจมในพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่กันหนาแน่นโดยตรงนั้น เป็นเพราะอิสราเอลต้องการทำให้ผู้นำของกลุ่มฮามาสอ่อนแรงลงจากกลยุทธ์การทำสงครามที่กินเวลานาน ขณะเดียวกันการไม่จู่โจมตรงๆ ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มฮามาสอาจยอมเจรจาปล่อยตัวประกัน
- นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลระบุว่า อิสราเอลจะไม่ยอมตกลงที่จะหยุดยิง เนื่องจากจะเป็นการยอมแพ้ต่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสและกลุ่มก่อการร้าย ขณะที่กองกำลังของอิสราเอลกำลังรุกคืบเข้าไปยังดินแดนฉนวนกาซามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยโฆษกของกองทัพได้ออกมาเตือนว่า ปฏิบัติการในฉนวนกาซาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
- กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นแถลงว่า ญี่ปุ่นได้ออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อกลุ่มบุคคลและบริษัทแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
- กองทัพสหรัฐในญี่ปุ่นได้เริ่มซื้ออาหารทะเลของญี่ปุ่นในปริมาณมาก เพื่อช่วยรับมือกับการที่จีนสั่งแบนการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.96 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.30 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยกิจกรรมในภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 91.60 หดตัว 6.06%YoY โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 อยู่ที่ระดับ 94.31 หดตัว 5.09%YoY โดยหดตัวจากปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงชะลอตัว แม้ว่าในเดือนก.ย. มูลค่าการส่งออกรวมจะขยายตัว 2.10% แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 0.27% สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงโครงสร้างการส่งออกของภาคการผลิตไทยที่อาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง