ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -8.16 เหรียญ หรือ -0.4% อยู่ที่ระดับ 2,036.16 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 9.90 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 2,057.20 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 21.70 เซนต์ หรือ 0.85% ปิดที่ 25.66 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 5.50 ดอลลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 935.90 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 2.02 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 876.51 ตันภาพรวมเดือนพฤศจิกายน ซื้อสุทธิ 17.02 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 41.13 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.54 จุด หรือ 0.53% มาอยู่ที่ระดับ 103.36 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 4.328% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.684% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.36% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา (บีโอเอฟเอ) กล่าวว่า เส้นอัตรผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งแสดงผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในช่วงอายุที่แตกต่างกัน อาจจะปรับตัวชันขึ้นในปีหน้า ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย
- นายมาร์ค คาบานา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของบีโอเอฟเอกล่าวว่า คาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐจะอยู่ที่ 4.25% ภายในปลายปีหน้า ขณะที่ความกังวลเรื่องอุปสงค์อาจจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่อไป เนื่องจากคาดว่ากระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรมากขึ้น
- นักเศรษฐศาสตร์จากดอยช์แบงก์คาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 1.75% ในปีหน้า แต่การลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 7 ครั้งติดต่อกัน และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ขณะเดียวกัน BOK ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปีหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,950.89 จุด เพิ่มขึ้น 520.47 จุด หรือ +1.47%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,567.80 จุด เพิ่มขึ้น 17.22 จุด หรือ +0.38% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,226.22 จุด ลดลง 32.27 จุด หรือ -0.23%
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 3.4% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนต.ค. ชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 3.7%
- นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เปิดเผยว่า ธนาคารจะถอนกิจการออกจากจีนหากรัฐบาลสหรัฐมีคำสั่งลงมา
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่พ้นวิกฤตและอาจทำให้รัฐบาลจีนต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ย.ของจีนปรับตัวลงสู่ระดับ 49.4 จากระดับ 49.5 ในเดือนต.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจอยู่ที่ 49.7 โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในปี 2567 โดยเป็นผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน รวมทั้งการค้าที่อ่อนแอลง และความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลงทั้งในภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยระบุว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2566 จะอยู่ที่ 2.9% และจากนั้นจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.7% ในปี 2567 ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นแตะระดับ 3% ในปี 2568
- FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. 2566, เดือนม.ค. 2567 และเดือนมี.ค. 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. 2567 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนมิ.ย. 2567
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจในไตรมาส 1 ปีหน้าในปริมาณที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ร่วงลง 1.90 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 75.96 ดอลลาร์/บาร์เรล และตลอดเดือนพ.ย.ปรับตัวลง 6.2%
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 27 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 82.83 ดอลลาร์/บาร์เรล และตลอดเดือนพ.ย.ปรับตัวลง 5.2%
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซาอุดีอาระเบีย รัสเซียและชาติสมาชิกรายอื่น ๆ ของโอเปกพลัสซึ่งผลิตน้ำมันในสัดส่วนกว่า 40% ของการผลิตน้ำมันทั่วโลกนั้น ได้ตกลงที่จะปรับลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจในปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล/วันในไตรมาส 1/2567
- แต่ในการปรับลดกำลังผลิตครั้งนี้ มีอย่างน้อย 1.3 ล้านบาร์เรล/วันที่เป็นการปรับลดกำลังผลิตโดยสมัครใจซึ่งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยผลการประชุมแตกต่างไปที่เจ้าหน้าที่โอเปกพลัสได้ออกมาส่งสัญญาณว่าก่อนหน้านี้ว่าอาจจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มอีก 2 ล้านบาร์เรล/วัน
- นอกจากนี้ แถลงการณ์ของกลุ่มโอเปกพลัสระบุว่า บราซิลจะเป็นสมาชิกรายใหม่ของโอเปกพลัส โดยเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2567
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- กลุ่มติดอาวุธฮามาสชาวปาเลสไตน์ได้ปล่อยตัวประกันชุดที่ 6 ทั้งสิ้น 16 รายออกจากฉนวนกาซาในวันพุธที่ผ่านมา โดยกาตาร์ระบุว่า ตัวประกันจำนวน 10 คนนั้นถูกปล่อยตัวภายใต้ข้อตกลงพักรบ ขณะที่ ชาวไทยจำนวน 4 คนและชาวรัสเซียอีก 2 คนได้รับการปล่อยตัวตามข้อตกลงอื่น
- กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ออกแถลงการณ์ว่า อิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้ตกลงที่จะขยายเวลาการพักรบออกไปอีกอย่างน้อย 1 วัน เพื่อเปิดทางให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันในฉนวนกาซาเพิ่มขึ้น โดยความพยายามของกาตาร์ที่จะโน้มน้าวให้ทั้ง 2 ฝ่ายยุติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างถาวรนั้น กำลังดำเนินต่อไป
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.40 บาทต่อดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคบริการชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.66 อยู่ที่ระดับ 89.38 ลดลง 4.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 66 หดตัวเฉลี่ยลดลง 5.04% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ต.ค.อยู่ที่ 56.83% และช่วง 10 เดือนแรกอยู่ที่ 59.53%
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง