ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลง หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ลดลงมากกว่าคาด
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 12.1 เหรียญ หรือ 0.61% อยู่ที่ระดับ 2,003.85 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 10.60 เหรียญ หรือ 0.53% ปิดที่ 2,014.90 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 56.40 เซนต์ หรือ 2.52% ปิดที่ 22.951 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 7.90 เหรียญ หรือ 0.88% ปิดที่ 905.20 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.73 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 837.31 ตัน ภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 13.84 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 41.8 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.31 จุด หรือ -0.3% มาอยู่ที่ระดับ 104.29 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 4.236% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.01 % มาอยู่ที่ระดับ 4.576% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.34% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- นายออสตัน กูลส์บี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกกล่าวในวันพุธว่า เฟดจะยังคงมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ถึงแม้อัตราเงินเฟ้ออยู่สูงเกินคาดเล็กน้อยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และเขากล่าวเสริมว่า เฟดไม่ควรที่จะรอนานเกินไปก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
- ราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐแห่งแอตแลนตา กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องเร่งรีบที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และเตือนว่ายังไม่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางอย่างยั่งยืน
- คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซนบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวกลับไปสู่เป้าหมายตามที่คาดไว้ แต่อีซีบียังคงต้องการข้อมูลมากกว่านี้ก่อนที่จะสามารถมั่นใจได้
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันพฤหัสบดี ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดทำนิวไฮ หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,773.12 จุด เพิ่มขึ้น 348.85 จุด หรือ +0.91%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,029.73 จุด เพิ่มขึ้น 29.11 จุด หรือ +0.58%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,906.17 จุด เพิ่มขึ้น 47.03 จุด หรือ +0.30%
- เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐกล่าว อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคสหรัฐในเดือนม.ค.อยู่ในระดับที่ "สูงเกินคาดเล็กน้อย" แต่ชาวสหรัฐควรจะมุ่งความสนใจไปยังการร่วงลงของแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว, ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น
- ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณสภาคองเกรส (CBO) เตือนว่า หนี้สินของสหรัฐและค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยนั้น อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
- คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีจะลดขนาดงบดุลในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ก็อาจจะคงพอร์ทการลงทุนในตราสารหนี้ไว้พร้อมกับการดำเนินการการให้สินเชื่อภายใต้กรอบใหม่ที่จะมีการปรับเปลี่ยนในเร็วๆนี้
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า เศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว หลังจากที่หดตัว 0.3% ในไตรมาส 4 และหดตัว 0.1% ในไตรมาส 3
- นายจอห์น เคมป์ นักวิเคราะห์ตลาดของรอยเตอร์ระบุว่า การที่ธุรกิจในภาคบริการของสหรัฐปรับขึ้นค่าบริการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้ลดลงได้ยาก และปัจจัยนี้ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งส่งผลให้นักลงทุนปรับลดความหวังที่ว่า สหรัฐจะประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มหดตัวลงอีกในไตรมาส 1/2567 หลังจากที่มีการหดตัวอย่างเหนือความคาดหมายในไตรมาส 4/2566 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงันและสร้างความกังวลให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของอังกฤษเปิดเผยรายงานเบื้องต้น ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 ของอังกฤษหดตัวลง 0.3% และเป็นการหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 78.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.26 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 82.86 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วพื้นที่ตอนใต้ของเลบานอนเพื่อตอบโต้ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยิงจรวดถล่มฐานทัพอิสราเอล โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลและแหล่งข่าวด้านความมั่นคงในเลบานอนเปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิต 11 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6 ราย ทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 7 ราย
- สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) มีความกังวลว่า การตัดสินใจของสหรัฐที่จะจัดให้กลุ่มกบฏฮูตีกลับไปอยู่ในรายชื่อองค์กรก่อการร้ายอีกครั้งนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยเมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าจำเป็นเชิงพาณิชย์
- ผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธยูเครนเปิดเผยว่า กองกำลังยูเครนได้โจมตีเรือยกพลขึ้นบก ซีซาร์ คูนิคอฟ (Caesar Kunikov) ของรัสเซียในทะเลดำ บริเวณนอกชายฝั่งคาบสมุทรไครเมีย
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์
- นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เผยว่า รัฐบาลยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ และมีแนวโน้มทรุดลงได้อีก แม้รัฐบาลจะพยายามดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่แล้ว โดยปัญหาหลักของเศรษฐกิจขณะนี้ เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง