ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีก หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อสูงเกินคาดในสัปดาห์นี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -7.38 เหรียญ หรือ -0.34% อยู่ที่ระดับ 2,154.75 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6 ดอลลาร์ หรือ 0.28% ปิดที่ 2,161.50 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 32.10 เซนต์ หรือ 1.28% ปิดที่ 25.381 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 7.80 ดอลลาร์ หรือ 0.83% ปิดที่ 943.50 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 14.98 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 831.84 ตันภาพรวมเดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 8.93 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 47.27 ตัน
- ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังปรับฐานลง หลังจากทะยานขึ้นอย่างมากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
- JPMorgan คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นถึง $2,500 ต่อออนซ์ โดยอาศัยปัจจัยสนับสนุนสองด้าน ได้แก่เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจปรับลดดอกเบี้ยลง
- ขณะที่ราคาทองคำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.นี้ ราคาทองคำในรูปสกุลเงินหยวนก็พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดทองคำจีนได้รับความสนใจอย่างมากจากบรรดานักลงทุน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.37 จุด หรือ 0.36% มาอยู่ที่ระดับ 103.76 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 4.312% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 4.73% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.42% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- บรรดานักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 19-20 มี.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมสัปดาห์หน้า
- นายคลาส น็อต ผู้ว่าการธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ และสมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีอาจลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งเป็นอย่างต่ำในปีนี้ โดยการลดดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย. ถ้าหากข้อมูลค่าจ้างที่จะออกมายังคงยืนยันการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
- สมาชิกคณะมนตรีบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า ECB ประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ โดยกล่าวว่า “แม้จะเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์ แต่นโยบายการเงินก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิง”
- รอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ ทุกคนคาดการณ์ตรงกันว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป หลังจากบีโออีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 14 ครั้ง และจะเริ่มลดดบ.ใน Q3,จะลดดอกเบี้ย 0.75% ปีนี้
- ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจยุติใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบในสัปดาห์หน้า
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งเคยหนุนตลาดทะยานขึ้นในปีนี้ ขณะที่นักลงทุนพิจารณาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,714.77 จุด ลดลง 190.89 จุด หรือ -0.49%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,117.09 จุด ลดลง 33.39 จุด หรือ -0.65%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,973.17 จุด ลดลง 155.36 จุด หรือ -0.96%
- ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวลงเล็กน้อย โดยดาวโจนส์ลดลง 0.02%, S&P500 ลดลง 0.1% และ Nasdaq ลดลง 0.7%
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ราคาบ้านใหม่ในจีนลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนก.พ. แม้เพิ่งออกมาตรการไปเมื่อไม่นานมานี้เพื่อพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ จากแรงขายทำกำไร หลังราคาพุ่งทะลุระดับ 85 ดอลลาร์/บาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. แต่ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐหลังจากเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงตามแผน
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 22 เซนต์ หรือ 0.27% ปิดที่ 81.04 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 4.07% ในรอบสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 8 เซนต์ หรือ 0.09% ปิดที่ 85.34 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 4.02% ในรอบสัปดาห์นี้
- นักวิเคราะห์กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลง หลังจากนักลงทุนไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนมิ.ย.หรือไม่ หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อสูงของสหรัฐสูงเกินคาด ขณะที่นักลงทุนมองว่า หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยลงจะทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นในสหรัฐ
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันปี 2567 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มคาดการณ์ครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566 อันเนื่องมาจากการที่กลุ่มกบฏฮูตีทำการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงได้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ดี IEA ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้อยกว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) คาดการณ์ไว้
ข่าวเกี่ยวกับการเมือง
- เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรัสเซียเปิดเผยว่า โดรนยูเครนหลายลำเข้าโจมตีโรงกลั่นน้ำมันสลาเวียนสค์ในดินแดนครัสโนดาร์ของรัสเซีย ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิต
- กลุ่มกบฏฮูตีรายงานว่า กองทัพเรือสหรัฐและอังกฤษระดมโจมตีทางอากาศ 4 ครั้งใส่เมืองโฮเดดาห์ ซึ่งเป็นเมืองท่าของเยเมน เมื่อวานนี้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.50- 36.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยรวมทั้งปี จะลดลงประมาณ 0.50% การลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เพียงช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาเพราะปัญหาหนี้สินในไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ อีกหลายมิติ
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง