ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากเท่าใดในการประชุมเดือนนี้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -6.93 เหรียญ หรือ -0.28% อยู่ที่ระดับ 2,492.62 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4.60 ดอลลาร์ หรือ 0.18% ปิดที่ 2,523.00 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 79.9 เซนต์ หรือ 2.74% ปิดที่ 28.344 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 22.30 ดอลลาร์ หรือ 2.39% ปิดที่ 909.90 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 862.74 ตันภาพรวมเดือนกันยายน ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 16.37 ตัน
- นักวิเคราะห์อาวุโส ของ World Gold Council (WGC) กล่าวว่า แม้ราคาทองคำจะทำสถิติสูงสุดใหม่ แต่การซื้อสุทธิโดยธนาคารกลางเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 37 ตันในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าความต้องการจะยังคงแข็งแกร่งในเดือนต่อๆ ไป
- ธนาคารกลางโปแลนด์ เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในเดือนกรกฎาคม เพิ่ม 14 ตัน ทำสถิติการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 "การซื้อนี้ทำให้การถือครองทองคำของโปแลนด์เพิ่มขึ้นเป็น 392 ตัน หรือ 15% ของสำรองทั้งหมด
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.02 จุด หรือ 0.02% มาอยู่ที่ระดับ 101.68 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.08 % มาอยู่ที่ระดับ 3.833% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.07 % มาอยู่ที่ระดับ 3.865% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.03% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 69.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 18 ก.ย. และให้น้ำหนัก 31.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00%
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ จะเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และอัตราว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.2% ในเดือนส.ค. จากระดับ 4.3% ในเดือนก.ค.
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักในวันอังคาร หลังจากมีรายงานว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากเท่าใด
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,936.93 จุด ลดลง 626.15 จุด หรือ -1.51%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,528.93 จุด ลดลง 119.47 จุด หรือ -2.12%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,136.30 จุด ลดลง 577.33 จุด หรือ -3.26%
- ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า เดือนกันยายนเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี โดยดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 2.3% ในเดือนดังกล่าวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งในสหรัฐ จะทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยิ่งมีแนวโน้มดิ่งลงในเดือนกันยายน เนื่องจากนักลงทุนมักทำการเทขายหุ้นอย่างหนักในเดือนกันยายนและตุลาคมในปีเลือกตั้ง ก่อนที่จะกลับเข้าซื้อหุ้นในไตรมาส 4 ส่วนเดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นปรับตัวดีที่สุด
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร โดยปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 เดือน หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าข้อพิพาทด้านการเมืองในลิเบียมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังจากที่ข้อพิพาทดังกล่าวได้ส่งผลให้ลิเบียระงับการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.21 ดอลลาร์ หรือ 4.36% ปิดที่ 70.34 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 3.77 ดอลลาร์ หรือ 4.86% ปิดที่ 73.75 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ราคาน้ำมัน WTI และน้ำมันเบรนท์ต่างก็ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2566 หลังจากหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติของลิเบียได้ตกลงที่จะแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ภายใน 30 วัน ภายหลังจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยและจัดให้มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
- นักวิเคราะห์จาก Saxo Bank กล่าวว่า กระแสคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกจะสามารถทำข้อตกลงกันได้นั้น ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดน้ำมัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ข้อพิพาททางการเมืองในลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง
- ทั้งนี้ รัฐบาลลิเบียตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเบงกาซีมีความขัดแย้งกับรัฐบาลลิเบียที่ตั้งอยู่ในกรุงตริโปลีในประเด็นที่ว่า ฝ่ายใดควรมีอำนาจในการควบคุมธนาคารกลางลิเบียและรายได้จากน้ำมัน
- ราคาน้ำมันยังถูกกดดันหลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) เตรียมเดินหน้าแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 180,000 บาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ลิเบียลดการผลิตน้ำมัน อันเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ซาอุดีอาระเบียอาจปรับลดราคาน้ำมันดิบที่ขายให้กับภูมิภาคเอเชียในเดือนต.ค.นี้ หลังจากราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในตะวันออกกลางลดลงเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาทต่อดอลลาร์
- สภาผู้ส่งออก มั่นใจยอดส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวได้ 1-2% โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือแตะ 10 ล้านล้านบาท โดยมีสัญญาณที่ดีจากการเติบโตของการนำเข้าสินค้าทุน ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือน ส.ค.- ก.ย. แม้จะมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง