• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 4 เมษายน 2568

    4 เมษายน 2568 | Gold News


สรุปตัวเลขเศรษฐกิจ


  • Unemployment Claims ออกมาที่ 219K ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 225K ครั้งก่อน 225K
  • Final Services PMI ออกมาที่ 54.4 สูงกว่าคาดการณ์ที่ 54.1 ครั้งก่อน 54.3        
  • ISM Services PMI ออกมาที่ 50.8 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 53.0 ครั้งก่อน 53.5

ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากราคาทองพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -20.21 เหรียญ หรือ -0.65% อยู่ที่ระดับ 3,111.23 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 44.50 ดอลลาร์ หรือ 1.40% ปิดที่ 3,121.70 ดอลลาร์/ออนซ์
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 4.3 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 936.24 ตันภาพรวมเดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 2.86 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 63.72 ตัน


  • นักวิเคราะห์ด้านโลหะจากบริษัท Zaner Metals กล่าวว่า ราคาทองคำปรับตัวลงเนื่องจากแรงขายทำกำไร แต่คาดว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอยและเป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนักนั้น จะทำให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย


  • นอกจากนี้ คาดว่าราคาทองคำจะได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะซื้อทองคำเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินทรัพย์ในระบบทุนสำรองที่นอกเหนือไปจากสกุลเงินดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -1.3 จุด หรือ -1.26% มาอยู่ที่ระดับ 101.85 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.05 % มาอยู่ที่ระดับ 4.013% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.14 % มาอยู่ที่ระดับ 3.658% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ0.36%


  • นักลงทุนยังจับตาถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันนี้ โดยการขึ้นภาษีครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีทรัมป์สร้าง ความปั่นป่วนในตลาดและกดดันเฟดอย่างมาก ซึ่งนำมาสู่ความท้าทายสองด้านสำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คือ เงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น และเศรษฐกิจที่อาจโตช้าลง หรือหนักกว่านั้นคืออาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามที่นักวิเคราะห์บางส่วนเตือนไว้


  • CME FedWatch นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มจากการลดลง 0.25% ในเดือนมิถุนายน มองว่าความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมีน้ำหนักมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ โดยคาดว่าการลดดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน


  • ฟิลิป เจฟเฟอร์สัน รองประธานเฟด กล่าวว่า "ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน" ในการปรับดอกเบี้ย พร้อมเสริมว่าขณะนี้มี "การเปลี่ยนแปลงสำคัญ" ในนโยบายการค้า การย้ายถิ่นฐาน และการคลัง ซึ่ง "จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินผลรวมของการเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านี้ก่อน"


  • ลิซ่า คุก ผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า การขึ้นราคาจากภาษีศุลกากรและการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น อาจเป็นเหตุผลให้คง "จุดยืนที่เข้มงวด" ต่อดอกเบี้ยต่อไปอีกนาน เพื่อลดความเสี่ยงที่คนจะคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เธอก็เตือนว่าการขึ้นภาษีอาจทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง และความไม่แน่นอนโดยรวมอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงตลาดแรงงานที่อาจอ่อนแอลงด้วย


  • หลุยส์ เดอ กินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้ ECB ต้องใช้ความรอบคอบอย่างสูง เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปได้ในสองทิศทางทั้งขาขึ้นและขาลง


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรครั้งใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะนำไปสู่การทำสงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญภาวะถดถอย


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,545.93 จุด ลดลง 1,679.39 จุด หรือ -3.98%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,396.52 จุด ลดลง 274.45 จุด หรือ -4.84% 
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,550.61 จุด ลดลง 1,050.44 จุด หรือ -5.97%


  • ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P500 ร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และหันไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากปธน.ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) และภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tariff) เมื่อวันพุธ (2 เม.ย.)


  • ทั้งนี้ ภาษีศุลกากรตอบโต้จะแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ ขึ้นอยู่กับการตั้งกำแพงภาษีของประเทศนั้น ๆ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ส่วนภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาลจะอยู่ที่ระดับ 10% เท่ากันทุกประเทศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.


  • นักลงทุนวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีครั้งใหม่ของทรัมป์จะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการตอบโต้ และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยล่าสุดจีนซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 34% และสภาพยุโรป (EU) ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% ประกาศว่าจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ


  • นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ระบุว่า มาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียมากกว่าในช่วงปี 2561-2562 ขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ได้รับผลกระทบจากภาษีมากที่สุด


  • ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก พุ่งขึ้น 39.56% แตะระดับ 30.02 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 2567


  • นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 139,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.1% ในเดือนมี.ค.


  • ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) ประเมินว่า อัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บจากสินค้าจีน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ตามมาตรการตอบโต้ล่าสุดนั้น คาดว่าจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนลดลง 2.4 จุดเปอร์เซ็นต์ และทำให้การส่งออกของจีนลดลง 15.4 จุดเปอร์เซ็นต์


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 6% ในวันพฤหัสบดี หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรรอบใหม่ของสหรัฐฯ


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 4.76 ดอลลาร์ หรือ 6.64% ปิดที่ 66.95 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 4.81 ดอลลาร์ หรือ 6.42% ปิดที่ 70.14 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • 8 ชาติสมาชิกของกลุ่มโอเปกพลัสซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต คาซัคสถาน แอลจีเรีย และโอมาน ได้จัดการประชุมเพื่อทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน โดยที่ประชุมมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 411,000 บาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนพ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากแผนการเบื้องต้นที่ระดับ 135,000 บาร์เรล/วัน


  • ข่าวการเพิ่มกำลังการผลิตของโอเปกพลัสส่งผลให้ราคาน้ำมัน WTI ร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2565 และราคาน้ำมันเบรนท์ดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565


  • ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลว่า มาตรการภาษีศุลกากรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ จะนำไปสู่สงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก


  • ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล


ข่าวเกี่ยวกับการเมือง


  • เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส วิจารณ์นโยบายภาษีของทรัมป์ว่ารุนแรงและไร้มูลเหตุ สร้างความสั่นสะเทือนต่อการค้าระหว่างประเทศ พร้อมแนะบริษัทยุโรปชะลอการลงทุนในสหรัฐฯ โดยระบุว่าบริษัทยุโรปควรต้องระงับการลงทุนที่วางแผนไว้ในสหรัฐฯ หลังจากสหภาพยุโรปจะถูกตั้งภาษีสูงขึ้นที่ร้อยละ 20


  • สหภาพยุโรป (EU) ส่งสัญญาณเตรียมใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เพิ่มเติม หากการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU ในอัตรา 20% เมื่อวันพุธ (2 เม.ย.)


  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะเดินหน้าขอยกเว้นภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ต่อไป หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับญี่ปุ่นในอัตรา 24% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการภาษีตอบโต้ที่ปธน.ทรัมป์มุ่งใช้กับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ


  • ไต้หวันเปิดเผยว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นวงกว้างซึ่งรวมถึงการสั่งเก็บภาษีกับไต้หวันที่ 32% ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้นั้นไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และรัฐบาลไต้หวันมีแผนที่จะหารืออย่างจริงจังกับทางการสหรัฐฯ


  • จีนประกาศว่าจะตอบโต้ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่เผชิญกับภาษี 20% ส่วนเกาหลีใต้ เม็กซิโก อินเดีย และประเทศคู่ค้าอื่นๆ อีกหลายประเทศระบุว่าจะชะลอการตอบโต้ไว้ก่อน ขณะที่พวกเขาพยายามเจรจาขอสิทธิพิเศษก่อนที่มาตรการภาษีเป้าหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนนี้


  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อปิดช่องโหว่ทางการค้าที่เรียกว่า “de minimis” หรือข้อยกเว้นภาษีการนำเข้ากับพัสดุขนาดเล็กจากจีนและฮ่องกงที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.นี้


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท

 

  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า  "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.24 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัว แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันที่ผ่านมา มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.35 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ)

 

  • รมว.การคลัง กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อรับมือกรณีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับอีกหลายประเทศ รวมถึงคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งไทยถูกเก็บในระดับ 37% ว่า แนวทางเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหาคือ การทำตัวเป็นคู่ค้าที่ดี โดยต้องมีการปรับสมดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ผ่านการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ช่องว่างของตัวเลขการเกินดุลทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศลดลง

 

 


ที่มาจาก : yahoo finance, Reuters, kitco news, investing, Infoquest

Tags : ข่าวทองข่าวทอง ทอง ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com