ค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงาน Beige Book ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ 12 เขต ยังส่งสัญญาณที่แตกต่างกัน โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงมาที่ระดับ 98.90 ขณะที่ค่าเงินยูโรเช้านี้แข็งค่าขึ้นที่ระดับ 1.0893 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0856 ดอลลาร์/ยูโร
ด้านค่าเงินเยนเช้านี้กลับมาแข็งค่าบริเวณ 117.39 เยน/ดอลลาร์ และค่าเงินหยวนเช้านี้ทรงตัวบริเวณ 6.5654 หยวน/ดอลลาร์
รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายเขตของสหรัฐฯชะลอตัวลง จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ที่ส่งผลต่ออุปสงค์การบริโภค ขณะที่บางพื้นที่อุตสาหกรรมน้ำมัน ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ
นายชาร์ล อีวานส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก ยังคงมีความกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้ความเป็นไปได้เกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้ออาจชะลออกไป
นายอีริค โรเซ็นเกร็น ประธานเฟดสาขาบอสตัน ระบุว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ซึ่งเขาเน้นย้ำว่า การดำเนินนโยบายคุมเข้มของเฟดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพียงพอ รวมทั้งความมั่นใจที่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 2% ที่เฟดกำหนดได้
นอกจากนี้ เขายังคงแสดงความเห็นว่า กลุ่มผู้กำหนดนโยบายของเฟดกำลังจับตาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวร่วงลงอย่างหนัก รวมทั้งประเด็นการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน และการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ ที่บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเฟดจะนำข้อมูลข้างต้นและข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯมาประกอบการตัดสินใจต่อก้าวต่อไปในการดำเนินนโยบายการเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักวิเคราะห์บางส่วน กล่าวว่า จากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาบอสตัน แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกและความอ่อนแอของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จึงอาจทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ออกไปก่อน
ยอดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Budget Balance) ประจำเดือนธันวาคม ออกมาแย่ลงกว่าที่คาดแต่ดีขึ้นจากเดิมที่ระดับ -1.44 หมื่นล้านเหรียญ
สถาบันไอโฟ่ (Ifo) ของเยอรมนี และสำนักงานสถิติ แองซี (Insee) ของฝรั่งเศส รวมทั้งสำนักงานสถิติอิสแตท (Istat)ของอิตาลี ต่างคาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะฟื้นตัวได้ในปีนี้ โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 0.4% โดยได้รับอานิสงค์จากภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนโยบายการคลังและการเพิ่มการบริโภคในภาคประชาชน
น้ำมันดิบ WTI ปิด +0.1% ที่ระดับ 30.48 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นน้อยกว่าคาด ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -1.8% ที่ระดับ 30.31 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งยังเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เมษายน 2004