• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 18 มกราคม 2559

    18 มกราคม 2559 | Economic News



ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลงมาที่ระดับ 98.956 ก่อนที่เช้าน้จะรีบาวน์เล็กน้อย 99.01 ด้านค่าเงินยูโรวันศุกร์แข็งค่าขึ้นบริเวณ 1.0911 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0860 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนที่เช้านี้จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยบริเวณ 1.0899 ดอลลาร์/ยูโร

ขณะที่ค่าเงินเยนเช้านี้อ่อนค่าขึ้นมา 117.27 เยน/ดอลลาร์ จาก 116.98 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินหยวนทรงตัวบริเวณ 6.5749 ดอลลาร์/หยวน และค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36.30 บาท/ดอลลาร์ในเช้านี้

ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่ออกมาไม่ค่อยดีนัก นำโดยยอดค้าปลีกประจำเดือนธันวาคมออกมาแย่ตามที่คาดแตะระดับ -0.1% ขณะที่ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมภาคยานยนต์ร่วงลงกว่าคาดแตะระดับ -0.1% เพราะได้รับผลกระทบจากกลุ่มผู้บริโภคที่ลดการใช้จ่ายในสินค้าทั่วไป

ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ร่วงลงตามคาดแตะระดับ -0.2% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตที่ไม่รวมภาคอาหารและพลังงานปรับตัวลงตามคาดเช่นกันแตะระดับ 0.1% ซึ่งข้อมูลที่ชะลอตัวในเดือนธันวาคมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง และคาดว่าอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในปีนี้

ข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคมร่วงลงเกินคาดแตะระดับ -0.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3 เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงและสภาพอากาศที่อุ่นกว่าปกติ

ผลสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวมของสหรัฐฯประจำเดือนมกราคมนี้ออกมาแย่กว่าคาดอย่างมากแตะระดับ -19.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 เพราะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ การลดค่าใช้จ่ายทุน และอุปสงค์ทั่วโลกที่ยังอ่อนแอ

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นประจำเดือนมกราคมปรับตัวขึ้นเกินคาดแตะ 93.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2015 ซึ่งถึงแม้ตลาดหุ้นมีความผันผวน แต่การดิ่งลงของราคาน้ำมัน และสินค้าอื่นๆช่วยหนุนสถานะทางการเงินของผู้บริโภค

นายวิลเลียม ดัดเลย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลงระดับอัตราดอกเบี้ยเป็นไปด้วยดี แต่ก็ยังไม่อาจระบุได้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดจะดำเนินการรวดเร็วเพียงใดสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดจะต้องพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจที่จะได้รับในครั้งต่อไป ว่าจะส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร ก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินลำดับต่อไป

นายจอห์น วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก เผยว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลกอาจเป็นผลกระทบขนาดใหญ่ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับต่ำกว่า 2% ที่เฟดกำหนดนับตั้งแต่ปี 2012 เพราะได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ และการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเม็ดเงิน 1 แสนล้านหยวน ให้แก่สถาบันการเงิน 9 แห่งผ่านโครงการ MLF หรือเงินกู้ระยะกลาง เพื่อหนุนสภาพคล่องของระบบธนาคารในประเทศ

ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) เผยว่า ทางธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการผูกติดค่าเงินกับดอลลาร์ ถึงแม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงจะร่วงลงในขณะนี้ โดยในช่วง 2 วันค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 1986 และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2011 เพราะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นฮ่องกง สภาพคล่องที่เบาบางในตลาด และการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค

น้ำมันดิบยังคงปรับตัวลงแรงหลุดระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรลลงมาและร่วงลงกว่า 20% เพียงเริ่มปีนี้ได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 โดยน้ำมันดิบ WTI ปิด -5.7% ที่ระดับ 29.42 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -6.3% ที่ระดับ 28.94 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในเช้าวันนี้เปิดปรับตัวลดลงต่อเคลื่อนไหวบริเวณ 28 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 2013 โดยตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด หลังมีรายงานว่าอิหร่านเตรียมส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น หลังจากรายงานล่าสุดจาก Nasdaq ระบุว่า ข้อตกลงการคว่ำบาตรระหว่าง 6 ชาติมหาอำนาจและอิหร่านสิ้นสุดลงแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ในช่วงวันเสาร์เย็นที่ผ่านมา หลังจากที่ สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล หรือ IAEA ประกาศอย่างเป็นทางการว่าอิหร่านได้ยุติโครงการนิวเคลียร์ตามข้อตกลงแล้ว

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอิหร่าน กล่าวในวันอาทิตย์หลังจากที่ชาติมหาอำนาจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยระบุว่า อิหร่านพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 500,000 บาร์เรล/วัน

นักวิเคราะห์จาก Commerz Bank คาดว่า น้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันจากประเด็นการส่งออกน้ำมันของอิหร่านหลังจากชาติมหาอำนาจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อแตะระดับ 25 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ ขณะที่กลุ่มโอเป เปิดเผยว่า ราคาเฉลี่ยของตะกร้าน้ำมันดิบอ้างอิงของโอเปกดิ่งลงแตะ 25 ดอลลาร์/บาร์เรล

ประธานาธิบดีเวเนซูเอลา ประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ เพราะได้รับผลกระทบหลังราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจะยังไม่ได้เปิดเผยถึงการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างไร แต่ก็มีการส่งสัญญาณว่าจะทำการปกป้องโครงการสวัสดิการสังคมไม่ได้ถูกยกเลิกจากการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com