สำนักข่าว Business Insider ระบุว่า นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้เกือบเป็นเอกฉันท์ โดยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.25% - 0.50% ดังนั้นสิ่งที่ตลาดกำลังจับตามองคือรายงานการประชุมว่าเฟดจะแสดงความเห็นต่างๆอย่างไร
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เฟดไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามแผนของตนเอง คือ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง ทั้งนี้จากผลการสำรวจหลายแห่งชี้ว่าการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตนั้นได้ลดลง กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลง ทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดได้ช้าลงทั้งนี้การประชุมเฟดในครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐฯประจำปี 2015 ในวันศุกร์นี้
หัวหน้านักวิเคราะห์สหรัฐฯ ประจำ Nordea Markets ระบุว่า การประชุมเฟดในวันนี้ เฟดอาจส่งสัญญาณลบเล็กน้อย เพื่อสะท้อนว่าเฟดได้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เช่น เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง, ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เป็นต้น ดังนั้นจึงคาดว่าเฟดน่าจะแสดงท่าที Wait and Seeในการประชุมครั้งนี้
หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ จาก BlockRock แสดงความเห็นสอดคล้องกับนักวิเคราะห์จาก Nordea Markets โดยระบุว่า เฟดน่าจะแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และสถานการณ์ในตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะแสดงความเห็นที่จำไม่ทำให้ตลาดการเงินตื่นตระหนก
นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ระบุว่า ความผันผวนในตลาดหุ้นเร็วๆนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ขัดขวาง ไม่ให้เฟดสามารถทำตามแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ และคาดว่าการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์, การร่วงลงของราคาน้ำมัน, การเทขายหุ้นของนักลงทุน และส่วนต่างเครดิต(Credit Spreads)ที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิกเฟดปรับลดคาดการณ์การเติบโตและอัตราเงินเฟ้อลง
นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ระบุว่า ความเห็นในระยะหลังของเจ้าหน้าที่เฟดนั้นค่อนข้างมั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจ และมีความกังวลต่อความผันผวนในตลาดการเงินไม่มากนัก เราคาดว่าความผันผวนในตลาดการเงินน่าจะดีขึ้น ภายในการประชุมเดือน มี.ค. ของเฟด
หัวหน้านักกลยุทธ์ค่าเงินประจำ Mizuho Securities ระบุว่า หากรายงานการประชุมของเฟดระบุถึงการร่วงลงของราคาน้ำมันและความผันผวนในตลาดการเงิน หรือปัจจัยใดๆก็ตามที่ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อแย่ลง จะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีน ประจำเดือน ม.ค. ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนี Westpac China Consumer Sentiment ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 114.9 จากระดับ 113.7 ในเดือน ธ.ค. และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ เดือน ก.ย. เนื่องจากพัฒนาการที่ดีของภาวะการเงินผู้บริโภค(Personal Finances) ได้ชดเชยมุมมองที่แย่ลงของภาวะธุรกิจ(Business Conditions)
ดัชนีฯดังกล่าว ชี้ว่า การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของจีนในเดือน ธ.ค.หดตัวลง 4.7% (เดิมหดตัวลง 1.4%) เมื่อเทียบรายปี หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และเป็นการหดตัวที่มากที่สุดเป็นลำดับ 3 นับตั้งแต่ปี 2012 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ซึ่งทำให้การผลิตและยอดขายหดตัวลง
ทั้งนี้เมื่อเทียบกำไรทั้งปี 2015 กำไรของภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลดลง 2.3% (รัฐวิสาหกิจกำไรลดลง 21.9% ขณะที่ ธุรกิจเอกชน กำไรเพิ่มขึ้น 3.7%) ทั้งนี้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นอุตสาหกรรมที่กำไรหดตัวลงมากที่สุด กว่า 58.2% นำโดยธุรกิจน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ กำไรหดตัวลง 75% และธุรกิจถ่านหิน กำไรหดตัวลง 65%
นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank AG ระบุว่า ภาคการผลิตที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินนั้น กำไรหดตัวลงอย่างมาก และต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นอย่างยิ่ง(Extremely Relax) เพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจ
ในวันนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ปรับตัวลดลง 3.15% สู่ระดับ 30.46 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อวานนี้จากความพยายามในการปรับลดอุปทานของกลุ่ม OPEC และรัสเซีย
โดยราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากการรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ(American Petroleum Institute) ที่เพิ่มขึ้นสูงเกินคาด กอปรกับความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน
นักวิเคราะห์จาก Phillip Futures ระบุว่า สหรัฐฯยังมีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นโดยการปรับลดอุปทาน
ในคืนนี้จะมีรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ โดย องค์การสารสนเทศด้านพลังงาน (Energy Information Administration)
สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี ของไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น (CNPC) เปิดเผยว่า จีนพึ่งพาน้ำมันนำเข้ามากกว่า 60% เป็นครั้งแรกในปี 2015 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2016 โดยรายงานระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำมันในจีนปรับตัวขึ้น 4.4% ในปี 2015 ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าสุทธิอยู่ที่ระดับ 60.6% จากปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมด และคาดว่าปี 2016 จะอัตราการพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 62%