ตลาดการเงินในวันนี้ต่างจับตาไปยังข้อมูลยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ประกอบกับถ้อยแถลงของ นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาเคฟแลนด์ และนายอิริก โรเซ็นเกร็น ประธานเฟดสาขาบอสตัน ที่่มีกำหนดการในวันนี้
ทั้งนี้ ตลาดให้ความสำคัญกับถ้อยแถลงของ นางเมสเตอร์ มากกว่าว่าเธอจะกล่าวถึงการกลับมาใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อหรือไม่ เนื่องจากเธอเคยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สในช่วงต้นเดือนมกราคม โดยระบุว่า เธอเห็นชอบที่จะให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าปรับขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง
วันนี้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบสู่ระบบการเงินต่อเนื่อง 4 วันทำการ ผ่านธุรกรรม Reverse Repo อีกเป็นจำนวน 1.5 แสนล้านหยวน โดยเป็นธุรกรรมอายุ 14 วัน 8 หมื่นล้านหยวน และ 28 วัน 7 หมื่นล้านหยวน รวมแล้วสัปดาห์นี้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินไปแล้วกว่า 3.6 แสนล้านหยวนทั้งนี้ธุรกรรม Reverse Repo เป็นธุรกรรมที่ธนาคารกลางซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์โดยมีสัญญาว่าธนาคารพาณิชย์จะรับซื้อคืนในอนาคต
นักวิจัยอาวุโสประจำธนาคารกลางจีน (PBOC) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ รวมไปถึงเศรษฐกิจจีนอาจเผชิญกับภาวะแรงกดดันด้านเงินฝืด นอกจากนี้ ความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้นจากความผันผวนในตลาดการเงิน
กระทรวงพาณิชย์จีน รายงานว่า กระทรวงฯกำลังพิจารณาการเข้าร่วม ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และกำลังพิจารณาที่จะทำข้อตกลงดังกล่าว โดยจนถึงขณะนี้ จีนยังไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลง TPP
และในรายงานยังระบุว่า กระทรวงฯคาดหวังว่า การค้าเสรีในเขตเอเชียแอซิฟิก จะทำให้แต่ละฝ่ายมีความพึงพอใจ ทำการค้า การลงทุน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน
Goldman Sachs กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น และคาดว่า จะไม่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ โดยเป็นการปรับทบทวนคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้
นอกจากนี้ Goldman เชื่อว่า เฟดอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายน แม้ว่าความเป็นไปได้ในเดือนเมษายนจะยังมีอยู่ หากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจฟื้นตัวตามคาด
ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวได้ในระดับปานกลาง และนั่นคือสัญญาณที่ระบุว่ายังคงมีภาวะชะลอตัวเกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ โดยจะเห็นได้จากการที่ ISM เผยดัชนีภาคบริการในเดือนมกราคมที่หดตัวแตะระดับ 53.5 จากระดับ 55.8 ในเดือนธันวาคม และดัชนีภาคการผลิตยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยขยายตัวเพียง 48.2 ในเดือนมกราคม จากระดับ 48.0 ในเดือนธันวาคม ดังนั้น ความเสี่ยงภาวะขาลงยังคงมีอยู่ จึงทำให้มีโอกาสที่เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในบ่ายวันนี้โดยน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ซีรีย์เดือนมีนาคม ปรับตัวสูงขึ้น 0.19 เหรียญ/บาร์เรล หรือ 0.59% สู่ระดับ 32.47 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่เมื่อวานนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 8% เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และความเป็นไปได้ว่าบรรดาผู้ผลิตน้ำมันจะนัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ถึงแม้ว่าตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯเมื่อวานนี้จะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าราคาน้ำมันดิบในปีนี้และปี 2017 จะอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว สต็อกน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อวานนี้ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันประจำเวเนซุเอลา ระบุว่า ชาติสมาชิกโอเปค 6 ชาติ ได้แก่ เวเนซุเอลา อิหร่าน อิรัก แอลจีเรีย ไนจีเรีย และ เอกวาดอร์ กัลป์ ชาติผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปค 2 ราย ได้แก่ รัสเซีย และ โอมาน อาจเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ
Morgan Stanley คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะร่วงลงตลอดปี 2016 เปลี่ยนจากการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส โดยจากเดิมในรายงานวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ในไตรมาสที่ 4/2016 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 59 เหรียญ/บาร์เรล แต่รายงานในวันนี้คาดการณ์เหลือเพียง 29 เหรียญ/บาร์เรล
โดยให้เหตุผลว่า อุปสงค์ที่น้อยลงกว่าคาด และ อุปทานที่มากเกินกว่าคาด ทำให้สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลช้าลงและราคาน้ำมันที่ตกต่ำคงอยู่ต่อไป
ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย (National Australia Bank: NAB) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นจนถึงระดับ 40 เหรียญ/บาร์เรล ภายในสิ้นปีนี้ และ 50 เหรียญ/บาร์เรลในสิ้นปี 2017