ขณะที่เช้านี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้นแตะระดับ 113.35 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 112.21 เยน/ดอลลาร์ และค่าเงินยูโรเช้านี้อ่อนค่าลงต่อแตะระดับ 1.1235 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1338 ดอลลาร์/ยูโร
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในคืนวันศุกร์ ส่วนใหญ่ออกมาดีขึ้นเกินคา นำโดย ยอดค้าปลีกประจำเดือนมกราคมออกมาขยายตัวขึ้น 0.2% ด้านยอดค้าปลีกที่ไม่รวมกลุ่มยานยนต์ขยายตัว 0.1% และดัชนีราคานำเข้าออกมาดีขึ้นเกินคาดแตะระดับ -1.1% จากคาดว่าจะออกมา -1.4%
ทั้งนี้ การใช้จ่ายผู้บริโภคในเดือนมกราคมขยายตัวขึ้น จากความหวังที่ว่าสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถขยายตัวได้มากขึ้นหลังจากที่ส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงปลายปี 2015
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นประจำเดือนกุมภาพันธ์ออกมาแย่ลงเกินคาดแตะระดับ 90.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ท่ามกลางการร่วงลงของตลาดหุ้นและเงื่อนไขการขยายตัวทั่วโลกที่อ่อนแอลง จึงทำให้กลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกากังวลว่าอาจจะสร้างผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายวิลเลียม ดัดเลย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ระบุว่า แม้ตลาดการเงินสหรัฐฯจะประสบกับภาวะตึงตัว และจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดจะนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจสำหรับการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาถึงการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับติดลบในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่กล่าวต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เฟดเคยพิจารณาถึงการนำนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้เป็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงปี 2010 แต่ท้ายที่สุดเฟดก็สรุปว่ายังไม่ใช่เครื่องมือที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี เฟดมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดการเงิน และจะจับตานโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่อีซีบีประกาศใช้ก่อนหน้านี้ เพื่อดูว่าจะส่งผลอะไรตามมาบ้าง ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของบีโอเจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปท่ามกลางความไม่มีเสถียรภาพในตลาดการเงินขณะนี้ แม้ว่าประธานเฟดจะยังย้ำว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมตามกำหนดการเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่โปรแกรม FedWatch ของ CME Group ประเมินว่ามีโอกาสความเป็นไปได้ 0% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม
เช้านี้ผลการประกาศข้อมูลจีดีพีขั้นต้นประจำไตรมาสที่ 4/2015 ของญี่ปุ่นออกมาแย่เกินคาดแตะระดับ -0.4% และแย่ลงกว่าเดิมที่ระดับ 0.3% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาหดตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์สู่ระดับ 1.4% ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กลุ่มนโยบายการเงินเตรียมเฝ้าระวังว่าการทรุดตัวของตลาดการเงินอาจทำลายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เปราะบางลง
ขณะที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนจับตาการกลับมาของตลาดจีน ว่าจะตอบรับอย่างไรกับความผันผวนในตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นจับตาว่าจีนจะมีการปรับลดค่าเงินหยวนต้อนรับสัปดาห์นี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี รายงานจาก MKS Group ระบุว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับการปรับลดค่าเงินหยวนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
น้ำมันดิบ WTI ปิด +12.3% ที่ระดับ 29.44 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +11% ที่ระดับ 33.36 เหรียญ/บาร์เรล ขานรับถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่จุดประกายความคาดหวังว่าผู้ผลิตน้ำมันน่าจะสามารถร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตและผลักดันให้ราคาน้ำมันฟื้นตัวได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า กลุ่มโอเปกมีความพร้อมที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นเพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ
ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของไนจีเรีย กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส โดยระบุว่า สถานการณ์ภายในของกลุ่มโอเปกกำลังคลี่คลายและอาจบรรลุข้อตกลงเพื่อหาวิธีสิ้นสุดภาวะการร่วงลงอย่างหนักของราคาน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า 70% ใกล้ระดับ 30 บาร์เรล ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะอุปทานล้นตลาด ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ยังไม่มีการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ