ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เห็นพ้องกันในการตรึงกำลังการผลิต ขณะที่นักลงทุนบางส่วนรู้สึกผิดหวังกับข่าวดังกล่าว โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวขึ้นแถวระดับ 96.98
ด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเช้านี้บริเวณ 1.1133 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1256 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนเช้านี้อ่อนค่าบริเวณ 114.23 เยน/ดอลลาร์
นายแพทริก ฮาเกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดเฟีย กล่าวว่า เฟดควรรอข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อว่ามีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นก่อนจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ซึ่งเขาคาดหวังว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทันทีที่ตลาดการเงินและราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพ
เช้านี้ นายอิริก โรเซ็นเกร็น ประธานเฟดสาขาบอสตัน ระบุว่า เฟดไม่ควรที่จะเร่งรีบในการพิจารณาว่า “ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่” เนื่องจากภัยคุกคามจากต่างประเทศและความผันผวนในตลาดการเงินซึ่งน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯอยู่ในระดับต่ำ
ผลการประกาศดัชนีภาวะธรุกิจโดยรวมประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่ลงกว่าที่คาดสู่ระดับ -16.6 แต่ดีขึ้นจากเดิมเล็กน้อยที่ระดับ -19.4
น้ำมันดิบ WTI ปิด -1.4% ที่ระดับ 29.04 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -3.6% ที่ระดับ 32.18 เหรียญ/บาร์เรล โดยตลาดผิดหวังต่อข่าวที่ระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ 4 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย เวเนซูเอลา กาตาร์ และรัสเซีย เห็นพ้องกันในการตรึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเท่าระดับในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆจะต้องปฏิบัติตามด้วย
ขณะที่ อิหร่าน แสดงท่าทีปฏิเสธในการร่วมมือตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ เนื่องจากไม่ต้องการทิ้งส่วนแบ่งตลาดที่เคยได้รับก่อนที่จะถูกคว่ำบาตร
อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นกลายเป็นการร่วมมือครั้งแรกระหว่างกลุ่มโอเปก และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นอกโอเปกในรอบ 15 ปี ท่ามกลางภาวะอุปทานล้นตลาด และอาจช่วยผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบกว่าทศวรรษ ขณะที่ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกพยายามโน้มน้าวให้อิหร่านร่วมมือกับข้อตกลงการตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก Energy Aspects กล่าวแสดงความผิดหวังกับข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่า ต่อให้มีการคงปริมาณการผลิตน้ำมันที่ระดับเดือนมกราคม แต่ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ยังอยู่ในระดับสูง และถือเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวอาจไม่ส่งผลกระทบต่อดุลอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือนมกราคมนั้นก็อยู่ในภาวะล้นตลาดอยู่แล้ว