ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน หลังรายงานประชุมเฟดประจำเดือนมกราคม แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงมาแถวระดับ 96.78
ด้านค่าเงินเยนกลับแข็งค่าลงมาในเช้านี้บริเวณ 113.94 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินยูโรเช้านี้ทรงตัวที่ระดับ 1.1133 ดอลลาร์/ยูโร
สรุปรายงานประชุมเฟด บ่งชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น จากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ และความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก อาจสร้างความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นาย เจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสมหากเฟดจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางเงินเฟ้อระดับต่ำและความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น
ด้าน นักวิเคาะห์จาก Bank of America Merrill Lynch ปรับลดคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ประมาณ 3 ครั้งจาก 4 ครั้ง เพราะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาด
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ พบว่าส่วนใหญ่ออกมาดีขึ้น นำโดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนมกราคมขยายตัวขึ้นเกินคาดแตะระดับ 0.1% เช่นเดียวกับ Core PPI ที่ออกมาดีเกินคาดสู่ระดับ 0.4% ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เกินคาดอย่างมากแตะระดับ 0.9% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2015 เพราะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต และสาธารณูปโภค
ด้านข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์ฯของสหรัฐฯในเดือนมกราคม พบว่า ยอดการเริ่มก่อสร้างบ้านปรับตัวลดลงแตะระดับ 1.1 ล้านยูนิต โดยปรับตัวลง 40,000 ยูนิตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทางด้านยอดการอนุมัติการก่อสร้างบ้านออกมาแย่กว่าที่คาดเล็กน้อยแต่ทรงตัวในระดับเดิม 1.2 ล้านยูนิต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลและบีโอเจจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจและการปล่อยเงินกู้ เพื่อประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบของบีโอเจที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวานนี้เป็นวันแรก ซึ่งรัฐบาลและบีโอเจจะร่วมมือกันเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว และไม่กลับสู่ภาวะเงินฝืด
อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะทำการเพิ่มภาษีการขายในปีหน้าที่ระดับ 10% จากระดับ 8% ซึ่งถือเป็นการดำเนินการทางการเงินที่สำคัญ แต่การตัดสินใจเกี่ยวกับแผนดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบขนาดใหญ่
น้ำมันดิบ WTI ปิด +5.6% ที่ระดับ 30.66 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +7.2% ที่ระดับ 34.50 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ เพราะได้รับแรงหนุนจากข้อมูลภาคการผลิตที่ขยายตัวได้เกินคาดของสหรัฐฯ ขณะที่อิหร่านตัดสินใจร่วมมือกับกลุ่มโอเปก โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอิหร่าน ประกาศจะร่วมมือในการคงเพดานการผลิตน้ำมัน เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันดิบกับกลุ่มโอเปกและกลุ่มนอกโอเปก
นักวิเคราะห์จาก ANZ Bank ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบรีบาวน์ขึ้นจากความเป็นไปได้ที่อิหร่านอาจไม่เพิ่มกำลังการผลิต และมีแนวโน้มจะคงการผลิตน้ำมันดิบในระดับต่ำในปัจจุบัน โดยไม่มีการระบุว่าจะควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันของตนอย่างไร