ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร หลังจากรายงานประชุมอีซีบีส่งสัญญาณอาจผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมโดยค่าเงินยูโรทรงตัวแถวบริเวณ 1.1120 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1132 ดอลลาร์/ยูโร
ขณะที่ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าในฐานะ Safe-Heaven อีกครั้ง หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวร่วงลงหลังจากที่ฟื้นตัวในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา โดยเช้านี้แข็งค่าลงมาที่ระดับ 112.88 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 114.11 เยน/ดอลลาร์ และดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงมาเล็กน้อยบริเวณ 96.78
อย่างไรก็ดี ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมาดีขึ้นเกินคาดเล็กน้อย นำโดยดัชนีผลสำรวจภาคการผลิตประจำเขตฟิลาเดเฟียเดือนกุมภาพันธ์ออกมาติดลบน้อยลงที่ระดับ -2.8 ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์ออกมาดีขึ้นเล็กน้อย 7,000 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการลดลงที่ระดับ 262,000 ราย ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 300,000 รายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 49 จึงยังบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งในตลาดแรงงาน
นาย จอห์น วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ระบุว่า เฟดควรทำตามแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำนักข่าว Reuters รายงานผลสำรวจจากนิวยอร์ก โดยระบุว่า กลุ่มดีลเลอร์กว่า 75% เชื่อว่านโยบายการเงินต่อไปของเฟดมีแนวโน้มที่จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่จะทำการตัดลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าในช่วง 2 ปีจากนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ระดับอัตราดอกเบี้ยจะกลับสู่ระดับ 0%
รายงานการประชุมของอีซีบีประจำเดือนมกราคม ระบุว่า คณะกรรมาการกำหนดนโยบายการเงินของอีซีบีมีความกังวลต่อภาวะปั่นป่วนในตลาดการเงิน และแนวโน้มการชะลอของเศรษฐกิจจีนและตลาดเกิดใหม่ ขณะที่คณะกรรมการจะมีการพิจารณาถึงระดับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 0.4% ว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มระยะยาวหรือไม่ จึงอาจส่งผลให้อีซีบีดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเดือนมีนาคมนี้
องค์กร OECD ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้สู่ระดับ 3.0% หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.3% เนื่องจากการชะลอตัวของประเทศของกลุ่มตลาดกเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งความผันผวนในตลาดการเงิน
น้ำมันดิบ WTI ปิด +0.4% ที่ระดับ 30.77 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ Brent ปิด -0.6% ที่ระดับ 34.28 เหรียญ/บาร์เรล หลังจาก EIA เผยว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลง ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์
EIA เผยรายงานการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลง 51,000 บาร์เรล สู่ระดับ 9.135 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 504.1 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ในรอบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอิรัก กล่าวว่า การเจรจาระหว่างกลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปกจะดำเนินต่อไปเพื่อหาวิธีผลักดันราคาน้ำมันให้กลับสู่ “ภาวะปกติ”
ขณะที่ Kitco เผยรายงานของอิหร่านเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า อาจไม่ทำการตัดลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามแผนข้อตกลงในช่วงต้นสัปดาห์ แต่อิหร่านกำลังพิจารณาเงื่อนไขข้อตกลงในตลาด
สถาบันจัดอันดับ S&P ประกาศปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศ ซาอุดิอาระเบีย, บราซิล, คาซัคสถาน, บาห์เรน และโอมานลงเป็นครั้งที่ 2 เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบที่สร้างผลกระทบต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว ที่มีการพึ่งพาการขับเคลื่อนของน้ำมันดิบเป็นส่วนใหญ่