ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินเพิ่มเติมในวันนี้จำนวน 1.3 แสนล้านหยวน โดยผ่านธุรกรรมreverse repos อายุ 7 วัน ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ที่อัดฉีดเข้าไปแล้วกว่า 0.7 แสนล้านหยวน
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า การบริโภคของจีนยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในปี 2016 นี้ และความผันผวนของค่าเงินหยวนจะไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำการค้าของจีน โดยระบุเพิ่มเติมว่าไม่ว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนหรือแข็ง ก็เป็นประโยชน์ต่อการค้าของจีนทั้งนั้น
ทั้งนี้ภาคการบริโภคของจีนมีสัดส่วน 66.4% ของ GDP ในปี 2015 ขณะที่การสำรวจภาคธุรกิจของจีนแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในภาคบริการ และการหดตัวของภาคธุรกิจตามแนวคิดเดิม อาทิ ภาคอุตสาหกรรมหนัก
CEO ของตลาดฮ่องกง (Hong Kong Exchanges & Clearing Ltd.) จะให้บริการสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสกุลเงินหยวน เพื่อหวังจะสร้างความสัมพันธ์กับจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
โดยสัญญาฟิวเจอร์สดังกล่าวจะอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ เช่น ดอลลาร์, เยน, ยูโร, รูเปียะห์ และ ริงกิต ทั้งนี้นอกจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนแล้ว ยังรวมถึงสัญญาฟิวเจอร์สทองคำสกุลเงินหยวนอีกด้วย
ทั้งนี้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ตลาดฮ่องกงได้ประกาศแผน 3 ปี เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งรวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่อิงกับสกุลเงินหยวนและริเริ่มระบบสำหรับการซื้อหุ้น IPO จากนักลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่
แสดงให้เห็นถึงตลาดฮ่องกงที่พยายามสร้างประโยชน์จากเหล่าผู้จัดการกองทุนที่ต้องการจะเข้าไปลงทุนในจีน รวมถึงนักลงทุนในจีนที่ต้องการนำเงินไปลงทุนภายนอก
นายจอห์น วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดควรเข้มงวดต่อแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเขามีมุมมองว่า อัตราการว่างงานมีแนวโน้มจะแตะ 4.5% ในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมาย 2% ได้ในช่วงเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามุมมองของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย หลังจากที่ตัวเขาและเจ้าหน้าที่เฟดสาขาอื่นๆสนับสนุนการปรับขันอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีการส่งสัญญาณว่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 4 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนัก จากความกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลก จึงกดดันต่อการดำเนินนโยบายของเฟดในเดือนมกราคม เนื่องจากไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะส่งผลเช่นไรต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ
และถึงแม้ว่าจะเกิดความผันผวนไปทั่วโลก รวมทั้งความปั่นป่วนในตลาดการเงิน แต่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่สดใส และเชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นไปค่อยไปของนโยบายการเงินแบบปกตินั้น เป็นการดำเนินการที่ดีที่สุด
สำหรับผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากรอยเตอร์ ณ ขณะนี้ ชี้ให้เห็นว่า มีโอกาสเพียง 2 ครั้งที่เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ด้านเหล่าเทรดเดอร์กลับมีมุมมองว่า เฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพียงหนึ่งครั้งในปีนี้
คืนนี้สหรัฐฯจะมีการเปิดเผยข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขณะที่นักลงทุนบางส่วนในตลาด Wall Streetจับตาไปยังรายงานทางเศรษฐกิจและผลประกอบการ ด้านนักลงทุนยังคงจับตาไปยังข้อมูลบ่งชี้ต่อราคาน้ำมันดิบ และแนวทางการคุมเข้มทางการเงินของเฟด เนื่องจากมีสมาชิกกำหนดนโยบายเฟดหลายรายมีกำหนดการขึ้นพูดตลอดวันทำการในสัปดาห์นี้
นักกลยุทธ์จาก FBN Securities กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากหากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มแสดงให้เห็นถึงความผันผวน อาจสร้างความกังวลและส่งผลลบต่อตลาด Wall Street ขณะที่ราคาน้ำมันยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น โดยเฉพาะในวันนี้จะมีการกล่าวถ้อยแถลงของนาย อัลลิ อัล-ไนมิ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ณ ที่ประชุมพลังงานCERAWeek
ซึ่งเขาอาจย้ำเน้นเช่นเดียวกับถ้อยแถลงของเลขาธิการกลุ่มโอเปก ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่กลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกจะรวมมือกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกในการหาทางแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง
ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ความมีเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบเมื่อยืนเหนือ 30 เหรียญ/บาร์เรล มีแนวโน้มจะสนับสนุนให้ภาพรวมตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นตาม
ราคาน้ำมันดิบ WTI ในวันนี้ปรับตัวลดลง 1.77% สู่ระดับ 32.80 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 1.84% สู่ระดับ 34.05 เหรียญ/บาร์เรล
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในวันนี้ เนื่องจากความกังวลต่อสภาวะอุปทานล้นตลาดได้กลับมาชดเชยความคาดหวังว่าอุปทานจากสหรัฐฯจะลดลงจากปริมาณแท่งขุดเจาะน้ำมันดิบที่ลดลง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อวานนี้
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่การปรับตัวสูงขึ้นของการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านได้ทำให้ภาวะอุปทานล้นตลาดคงอยู่นานมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่ามีอุปทานน้ำมันดิบมากเกินความต้องการปริมาณ 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า การผลิตน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นของอิหร่านจะชดเชยการผลิตลดลงของสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์จาก Phillip Futures ระบุว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตลง ยังคงคาดว่าราคาน้ำมันไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้