ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากข้อมูลยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนมกราคมออกมาแย่กว่าที่คาดอย่างมาก โดยปรับตัวลง 9.2% หรือลดลงกว่า 50,000 ยูนิต แตะระดับ 494,000 ยูนิต โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงแตะ 97.458
ขณะที่ค่าเงินยูโรทรงตัวที่ระดับ 1.1009 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่เมื่อวานนี้อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์บริเวณ 1.0957 ดอลลาร์/ยูโร และเช้านี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย 0.1% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์แตะระดับ 112 เยน/ดอลลาร์ในเช้านี้ และยังคงยืนเหนือจุดต่ำสุดเดิมในรอบ 2 สัปดาห์บริเวณ 111.04 เยนได้
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ส รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนมกราคมปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน แต่ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในเกณฑ์การฟื้นตัว ขณะที่ข้อมูลภาคบริการกลับมาหดตัวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2013 จึงยังบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่กระทบต่อภาคการผลิตและกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน
นายโรเบิร์ต เคพแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวว่า เขาไม่คาดหวังว่าสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปีนี้ ซึ่งตัวเขายังคงสนับสนุนให้เฟดทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปีนี้
ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนจาก LPL Financial กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยระบุว่า แม้ว่าในปี 2016 ตลาดการเงินจะประสบกับภาวะผันผวนและส่งผลให้เฟดเกิดความสงสัยต่อภาวะการรับรู้ที่เกิดขึ้นของตลาด แต่โดยทั่วไปแล้วเชื่อว่าเฟดจะดำเนินนโยบายต่อไปโดยไม่สนใจต่อความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งเฟดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา และในขณะนี้ตลาดก็กำลังมองหาสัญญาณการชะลอการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด แต่จริงๆแล้วเฟดมองหาวิธีการรับมือที่ดีต่อภาวะผันผวนที่เกิดขึ้น และยิ่งหากเฟดเริ่มเห็นแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ก็จะยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งจะส่งผลให้ตลาดการเงินสั่นคลอนอีกครั้ง
รายงานจากไอเอ็มเอฟ ระบุว่า กลุ่มประเทศจี-20 ต้องมีแผนการดำเนินการร่วมกันในการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งหนุนภาคการลงทุนสาธารณะ ท่ามกลางผลกระทบจากการร่วงลงของตลาดการเงินต่างๆ ความผันผวนของค่าเงิน และสัญญาณการอ่อนแอของเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก
น้ำมันดิบ WTI ปิด +0.9% ที่ระดับ 32.15 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +1.14% ที่ระดับ 34.41 เหรียญ/บาร์เรล หลัง EIA รายงานว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา 33,000 บาร์เรล แตะระดับ 9.1 ล้านบาร์เรล/วัน จึงช่วยหนุนการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มพลังงาน แม้ว่ารายงานสต็อกน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 507.6 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่ 6 ในรอบ 7 สัปดาห์
สถาบันจัดอันดิบ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศบราซิลลงสู่ระดับ Ba2หรือระดับ “ขยะ” ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าน่าลงทุน จากระดับ Baa3 ท่ามกลางแนวโน้มเชิงลบของประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจ และการที่รัฐบาลขาดความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายปฏิรูปเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ จึงอาจทำให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือต่อไป