ค่าเงินหยวนเริ่มมีเสถียรภาพในวันนี้ หลังจากที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง 2 วันทำการ หลังจากที่เกิดการคาดการณ์ว่าจีนจะเปิดตลาดตราสารหนี้ให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยการคาดการณ์ว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงจากการที่เงินทุนไหลออกจากประเทศ
ข้อมูลจากจาก Bloomberg ระบุว่าความผันผวนของค่าเงินหยวนระยะ 1 เดือน ลดลง 0.13% สู่ระดับ 6.93%จากที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 0.83% ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา
รายงานจากธนาคารกลางจีนเมื่อวานนี้ ระบุว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่(ไม่รวมเฮดจ์ฟัน) จะสามารถเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ระหว่างธนาคารของจีนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ผู้ที่เข้ามาลงทุนจะถูกจำกัดด้วยระบบโควต้า
ปัจจุบันตลาดระหว่างธนาคาร(Interbank Market) ของจีนมีมูลค่าทั้งหมด 35 ล้านล้านหยวน โดยสถาบันการเงินจากต่างประเทศมีสัดส่วนการถือครองไม่ถึง 2%
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.87% ขณะที่สหรัฐฯอยู่ที่ 1.69% และญี่ปุ่นอยู่ในระดับติดลบ
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Natixis SA ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากจะต้องถูกดึงดูดด้วยผลตอบแทนตราสารหนี้ของจีนซึ่งสูงกว่าชาติอื่นๆ ซึ่งจะช่วยชดเชยการไหลออกของเงินทุนได้บางส่วน แต่ในระยะสั้นไม่คิดว่าจะสามารถดึงดูดได้มากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติคงต้องใช้เวลาในการศึกษาตลาดตราสารหนี้จีนเสียก่อน ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าจีนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินเพิ่มเติมในวันนี้จำนวน 3.4 แสนล้านหยวน โดยผ่านธุรกรรม reverse repos อายุ 7 วัน สรุปภาพรวมในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินไปแล้ว 5.8 แสนล้านหยวน
อย่างไรก็ตามมีธุรกรรมฯจำนวน 5.8 แสนล้านหยวนของจีน ยังน้อยกว่าธุรกรรม reverse repos ที่จะหมดอายุในสัปดาห์นี้จำนวน 9.6 แสนล้านหยวน
ในวันนี้นาย ทาเคฮิเดะ คิอูจิ สมาชิกบอร์ดบีโอเจ ได้กล่าวเตือนถึงผลข้างเคียงของการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และตอบโต้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ระดับ 2% ว่าสูงเกินไปที่จะสำเร็จได้ ในภาวะที่ญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีศักยภาพในการเติบโตเลย
โดยนายทาเคฮิเดะ ระบุว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบนั้นจะส่งผลต่อกำไรของสถาบันการเงินลดลง จากการที่ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางการเงินและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจากสินเชื่อลดลง และอาจเป็นการบ่อนทำลายระบบการเงิน
สถาบันการเงินอาจตอบโต้โดยการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินไปยังผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน โดยไม่เพียงแต่อาจปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ
ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่ผลกระทบแบบเดียวกับการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
ในวันนี้น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 0.9% สู่ระดับ 31.86 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 1.03% สู่ระดับ 34.06 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก Reuters ระบุว่า ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในวันนี้เนื่องจากอุปสงค์แก๊สโซลีนที่สูงขึ้นและการผลิตน้ำมันที่ลดลงของสหรัฐฯ ไม่สามารถเอาชนะแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินของตลาดน้ำมันโลกและสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นได้
รายงานจากทางการสหรัฐฯระบุว่า ความต้องการแก๊สโซลีนของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 9.06 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเดิมที่ระดับ 8.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์เดียวกันของเดือนก่อน