นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ประจำเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือนสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากถึง 4.9% (เดิม -5.0%, คาดการณ์ 3.0%) เนื่องจากยอดสั่งซื้อเครื่องบินพลเรือนพุ่งสูงขึ้นอย่างโดดเด่นถึง 54.2% อย่างไรก็ตามยอดคำสั่งซื้อจากหมวดสินค้าสำคัญอื่นๆก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
Wells Fargo ระบุว่า แม้รายงานตัวเลขดังกล่าวจะสามารถทำให้ภาพรวมของภาคการผลิตของสหรัฐฯดีขึ้นรวมถึงการใช้จ่ายภาคธุรกิจ แต่ Wells Fargo ยังคงเชื่อว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง โดยยอดสั่งซื้อและยอดการขนส่งสินค้าทุนพื้นฐาน (Core Capital Goods) ทั้งสองตัวปรับตัวลดลง
และแม้ว่ายอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ซึ่งเป็นส่วนประกอบของดัชนี ISM จะกลับมาขยายตัวได้จากที่เคยหดตัวติดต่อกัน 2 เดือน แต่การสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในบางพื้นที่ยังคงมีสัญญาณที่ไม่ดีนักในเดือน ก.พ. อาทิ เขตริชมอนด์ และ นิวยอร์ก
ตัวเลขดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในคืนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้นำความคิดของนักลงทุนว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
รองหัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้จาก RBC Global Asset Management ระบุว่า หากดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในค่ำคืนนี้ออกมาได้อย่างแข็งแกร่ง, ตัวเลขการจ้างงานในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ออกมาแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน และส่งผลให้ความคิดของตลาดเปลี่ยนแปลงไปในระยะสั้น เราจะพบกับเฟดที่ไม่มั่นใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดีหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกับการประชุมเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
ขณะที่ในวันนี้ตลาดกำลังคาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯจะออกมาดีและช่วยหนุนตลาดหุ้น แต่ปัจจัยจากภายนอกสหรัฐฯยังคงเป็นกุญแจสำคัญว่าตลาดหุ้นจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อหรือไม่
นักกลยุทธ์จาก Bank of America Merrill Lynch ระบุว่า เรายังอยู่ในตลาดที่เปราะบางอย่างมาก ขณะนี้มีความกังวลในตลาดเป็นอย่างมาก และกำลังกังวลว่าเมื่อใดที่ความเสี่ยงต่างๆจะสูงขึ้นจนถึงจุดที่ธนาคารกลางแห่งต่างๆต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยความเสี่ยงดังกล่าวนั้นรวมถึง ความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และ แรงกดดันจากการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของจีน
ในวันนี้ นาย Zhou Xiaochuan ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวในงานประชุม G20 ที่กรุงเซี่ยงไฮ้ ว่า จีนยังสามารถผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและมีเครื่องมือทางนโยบายจำนวนมากที่สามารถกำจัดความเสี่ยงขาลงได้
รายงานจากธนาคารกลางจีนที่แยกต่างหากจากถ้อยแถลงของนาย Zhou ระบุว่า “มีความโน้มเอียงไปยังการผ่อนคลายทางการเงินเพียงเล็กน้อย” และให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบและรักษาระดับสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่สูงอย่างมีเหตุผล
ขณะที่รัฐมนตรีการเงินของจีน กล่าวในวันนี้ว่าในงานประชุม G20 ว่าจีนยังคงสามารถขยายการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้มาตรการที่มียังรวมไปถึงการปรับลดระเบียบราชการ, การลดภาษี และเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน
นักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียจาก HSBC ระบุว่า ธนาคารกลางจีนกำลังพยายามหนุนเศรษฐกิจและรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ โดยรายงานของธนาคารกลางจีนแสดงถึงสัญญาณต่อเทรดเดอร์อัตราแลกเปลี่ยนว่าอย่าทำให้จีนปวดหัวมากนัก
ในวันนี้ นาย Ma Jun หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางจีนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่าต้องการให้นักลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมกับการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
โดยนาย Ma Junระบุว่า จีนต้องการเงินลงทุนจำนวน 2-4 ล้านล้านหยวน (315-630 พันล้านเหรียญ) ในการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่มลพิษทางน้ำ อากาศ และผืนดิน แต่รัฐบาลไม่สามารถแบกรับต้นทุนทั้งหมดไว้ได้แต่เพียงผู้เดียว โดยสามารถแบกรับได้มากที่สุดเพียง 15% เท่านั้น ดังนั้นส่วนใหญ่ที่เหลือจะต้องมาจากนักลงทุนทั่วไป
แม้นักลงทุนกำลังหลีกหนีสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลางจีนยังคงเชื่อว่าความต้องการตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมจะยังคงแข็งแกร่ง
ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินผ่านธุรกรรม Reverse Repos อายุ 7 วัน จำนวน 3 แสนล้านหยวนในวันนี้ ส่งผลให้ตลอดทั้งสัปดาห์ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินไปทั้งสิ้น 8.8 แสนล้านหยวน
อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้มีธุรกรรมฯหมดอายุหมดอายุทั้งสิ้น 9.6 แสนล้านหยวน ดังนั้นในสัปดาห์ธนาคารกลางจีนดึงเงินออกจากระบบการเงินทั้งสิ้น 8 หมื่นล้านหยวน
ราคาน้ำมันดิบ WTI บ่ายวันนี้ ปรับตัวสูงขึ้น 0.2% สู่ระดับ 33.15 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 0.085% สู่ระดับ 35.26 เหรียญ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในวันนี้หลังจากที่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อวานนี้จากรายงานที่ระบุว่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะจัดการประชุมในเดือน มี.ค. เกี่ยวกับการจำกัดการผลิตน้ำมันดิบไว้ ณ เดือน ม.ค.
สำนักข่าว Reuters ระบุว่า เทรดเดอร์น้ำมันอาวุโสรายหนึ่งระบุว่า การจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไว้ ณ เดือน ม.ค. นั้นเป็นระดับที่มากเกินความต้องการมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่มีทางเลยที่จะช่วยลดภาวะอุปทานส่วนเกิน และรวมถึงอิหร่านที่จะกลับมาผลิตน้ำมันดิบมากขึ้นซึ่งจะทำให้แย่ลงไปอีก