

ตลาดหุ้นดาวโจนส์ปิด -0.74% หรือ 123.47 จุด ที่ระดับ 16,516.5 จุด จากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ และการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงานแม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้นก็ตาม
ตลาดหุ้นยุโรปปิด +0.7% ที่ระดับ 333.92 จุด ขานรับกับการที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดดอกเบี้ย RRR เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ดัชนีนิกเกอิเช้านี้เปิด -0.09% ที่ระดับ 16,013 จุด ตามการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการแข็งค่าของค่าเงินเยน
นักบริหารเงิน ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60 – 35.80 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่เงินบาทแข็งค่ามาจากแรงซื้อขายระหว่างวัน ซึ่งยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆพิเศษ
ธปท.จะมีการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ในช่วงเดือน มี.ค.นี้ จากเดิมคาดการณ์ขยายตัวปีนี้ที่ 3.5% และประมาณการส่งออกจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0% ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ หลังจากแรงส่งเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.แผ่วลง โดยเฉพาะภาคบริโภคชะลอตัว และการส่งออกยังหดตัวลงมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.59 สะท้อนสภาวะหยุดนิ่งของกิจกรรมในหลายๆ ด้าน สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2559 อาจกำลังหมุนช้าลง เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมที่มีความเปราะบางมากขึ้นของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2559จะชะลอการเติบโตลงมา หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ในช่วงไตรมาส 4/2558 โดยแม้จะมีแรงหนุนชดเชยเข้ามาจากการเร่งใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณ และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากของภาครัฐ แต่คาดว่า บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชน (โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกร) อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในทันที
