เมื่อวานนี้ข้อมูลจาก ISM เผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตสหรัฐฯ ปรับตัวออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ณ ระดับ 49.5 (เดิม 48.2, คาดการณ์ 48.5) สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน แม้ยังอยู่ในภาวะหดตัวก็ตาม ทั้งนี้ดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 จุด แสดงถึงภาวการณ์ขยายตัว หากต่ำกว่า แสดงถึงภาวะหดตัว
ทั้งนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ ได้ทำให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น โดยเครื่องมือ CME Group FedWatch ระบุว่า นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 62.3% จากเดิมเมื่อวันก่อนที่ 30.3% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 18%
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า PMI ภาคการผลิตสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น แม้ยังไม่ผ่าน 50 จุด แต่ก็ไม่แย่ลงกว่าเดิม โดยการผลิต, คำสั่งซื้อ และการจ้างงาน ขยายตัว แต่ราคาวัตถุดิบยังคงอ่อนแอ โดยดัชนีย่อยของ PMI คือ ยอดคำสั่งซื้อปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่สูงขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามดัชนีราคาวัตถุดิบแม้จะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 38.5 จุด แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด มาติดต่อกันแล้ว 16 เดือน ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998-1999 โดยดัชนีราคาวัตถุดิบที่อ่อนแอจะส่งผลต่อเนื่องไปกดดันดัชนีราคาผู้ผลิตและกดดันอัตราเงินเฟ้อต่อไป
บริษัทจัดอันดับเรทติ้ง Moody’s ได้ปรับลดมุมมองต่อเศรษฐกิจจีนสู่ระดับ มุมมองเชิงลบ(Negative) จาก มุมมองมีเสถียรภาพ(Stable) เนื่องจากความอ่อนแอของดัชนีชี้วัดทางการคลังและการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศ
Moody’s ระบุว่า ไม่มั่นใจในความสามารถในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนและการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปได้หากจีนยังคงปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า, หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และมีเงินทุนไหลออกมากขึ้น
ปัจจุบัน Moody’s ให้อันดับเรทติ้งของจีนอยู่ที่ระดับ Aa3 ซึ่งสูงกว่าระดับเก็งกำไรหรือระดับขยะ(Junk Grade)7 ขั้น
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทจัดอับดับอื่นๆ Standard & Poor's ให้อันดับความน่าเชื่อถือของจีนเท่ากับMoody’s ขณะที่ Fitch ให้ต่ำกว่า 1 ขั้น โดยทั้ง Standard & Poor's และ Fitch ต่างให้ มุมมองต่อจีนเป็น มีเสถียรภาพ (Stable)
น้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ปรับตัวลดลง 1.3% สู่ระดับ 33.95 เหรียญ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในวันนี้หลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อวานนี้ เนื่องจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯโดยสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน(API) เผยว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น 9.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์จากผลสำรวจของ Reuters ที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรล
เมื่อวานนี้ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิปดีรัสเซีย ระบุว่า บริษัทน้ำมันในรัสเซียยอมที่จะคงระดับการผลิตน้ำมันดิบไว้ ณ เดือน ม.ค. โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการประชุมกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น อาทิ ซาอุดิอาระเบีย เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในวันนี้จะมีการเผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯอีกครั้งโดย หน่วยงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ(EIA)
นักวิเคราะห์อาวุโสจาก หน่วยงานพลังงานสากล(IEA) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเหมือนจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและคาดการณ์ว่าจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ในปีนี้ จากการตัดลดการลงทุนซึ่งช่วยให้ภาวะอุปทานล้นตลาดทุเลาลง
นักวิเคราะห์จาก ANZ Bank ระบุว่า มุมมองของนักลงทุนต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งน้ำมันดิบและแร่เหล็กต่างสามารถทำจุดสูงสุดในรอบ 1 เดือนได้ในคืนที่ผ่านมา และการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบได้ช่วยสนับสนุนความคิดที่ว่าราคาน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว