ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังจากข้อมูล PMI ภาคบริการบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเช้านี้ดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวแถวระดับ 97.65
ด้านค่าเงินยูโรเช้านี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยบริเวณ 1.0950 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0866 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าบริเวณ 113.54 เยน/ดอลลาร์
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯเมื่อคืนนี้ พบว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดแตะระดับ 278,000 ราย และเพิ่มมากขึ้นประมาณ 6,000 รายเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 51 จึงยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคแรงงานสหรัฐฯ
ข้อมูลคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานประจำเดือนมกราคมออกมาแย่กว่าที่คาดแตะระดับ 1.6% แต่ดีขึ้นจากเดิมที่ระดับ -2.9% ซึ่งถือเป็นระดับการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2015 เพราะได้รับผลบวกจากแผนการลงทุนด้านธุรกิจที่ดีดตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน จึงสร้างความหวังว่าข้อมูลอื่นๆของภาคการผลิตอาจส่งสัญญาณที่ดีขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ISM เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ พบว่าออกมาดีขึ้นกว่าที่คาดเพียงเล็กน้อยแตะระดับ 53.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 ที่ภาคอุตสาหกรรมบริการมีการปรับลดการจ้างงาน
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ข้อมูลภาคแรงงานล่าสุดยังคงบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน แต่ผลสำรวจเกี่ยวกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมบริการกลับปรับตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการร่วงลงครั้งแรกในกรอบ 2 ปี แต่ภาพรวมก็ยังคงถือว่ามีการขยายตัว แต่นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวเตือนให้ระวังการร่วงลงที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำภาพรวมตลาดแรงงานกลับมาอ่อนแรงได้ เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคบริการมาก่อน
นาย โรเบิร์ต แคปเลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส เรียกร้องให้เฟดใช้ความอดทนต่อการดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะตึงตัวและเงื่อนไขทางการเงินอาจสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯได้
สำนักข่าวคิทโก ระบุว่า ตลาดจับตาการประชุมสภาคองเกรสของจีนในวันเสาร์นี้ ซึ่งคาดว่าทางการจีนน่าจะมีแผนเศรษฐกิจฉบับใหม่ในการประชุมวาระดังกล่าว
น้ำมันดิบ WTI ปิด -0.3% ที่ระดับ 34.57 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +0.4% ที่ระดับ 37.07 เหรียญ/บาร์เรล ทั้งนี้ตลาดยังคงมีความผันผวนจากแรงเทขายของนักลงทุน สลับกับความคาดหวังที่ว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะสามารถตกลงกันในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตได้
ขณะที่เช้านี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดเอเชียปรับตัวสูงขึ้น หลังรายงานจากทางการสหรัฐฯ เผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2014