โดยนาย Yi อ้างถึงการที่จีนมีอัตราการเติบโตในระดับปานกลางถึงสูง, มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลและแข็งแกร่ง และมีทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะช่วยหนุนค่าเงินหยวนต่อไป
ในวันนี้ นาย ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ระบุว่า ในขณะนี้บีโอเจกำลังพิจารณาถึงผลกระทบจากการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบต่อระบบเศรษฐกิจ
จากถ้อยแถลงดังกล่าว บ่งชี้ว่า บีโอเจอาจยังไม่ขยายมาตรการทางการเงินเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตามนายคุโรดะ ยังคงย้ำว่า บีโอเจจะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีกและจะขยายการใช้มาตรการ QE หากจำเป็น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมาย 2% และกล่าวถึงข้อดีของการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบว่าสามารถช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและกระตุ้นการลงทุนแก่ภาคเอกชน
ทั้งนี้บีโอเจจะมีการประชุมในวันที่ 14-15 มี.ค. นี้
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ประจำเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของภาคการผลิตสหรัฐฯ และการเติบโตของภาคบริการ โดยตำแหน่งงานในภาคการผลิตปรับตัวลดลง 16,000 นำโดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ลดลงถึง 19,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคบริการมีตำแหน่งงานเพิ่มสูงขึ้น 245,000 ตำแหน่ง
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า ผลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะสามารถเติบโตได้พอประมาณและจะไม่เกิดภาวะถดถอยในปี 2016 การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานจะช่วยหนุนการใช้จ่ายส่วนบุคคลรวมถึงหนุนการเติบโตของภาคการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญของภาคแรงงานอยู่ที่อัตราค่าจ้าง ซึ่งจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2013 และ 2014 ที่ผ่านมา ดัชนีต้นทุนแรงงานของสหรัฐฯอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ขณะที่ผลิตภาพแรงงานปรับตัวสูงขึ้นเพิ่มเล็กน้อย ดังนั้นสำหรับภาคเศรษฐกิจแล้วเหตุการณ์ยังกล่าวจะส่งผลให้กำไรของภาคเอกชนปรับตัวลดลงและจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคเอกชนมีความต้องการลงทุนและการจ้างงานลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ Wells Fargo คาดการณ์ว่าเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. นี้
ยอดคำสั่งซื้อโรงงานเยอรมัน ประจำเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวลดลง -0.1% (เดิม -0.2%, คาดการณ์ -0.4%)
แม้ยอดคำสั่งซื้อโรงงานเยอรมัน ประจำเดือน ม.ค. ในวันนี้จะดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ยอดคำสั่งซื้อดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความอ่อนแอของอำนาจในการตั้งราคาสินค้าของเยอรมัน ซึ่งอาจกดดันเศรษฐกิจเยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป
รายงานจาก CFTC ระบุว่า เหล่า Hedge Fund ได้ปรับลดการถือครองสถานะ Short ในน้ำมันดิบ WTI ลดลงกว่า 25,639 สัญญา หรือกว่า 15% สู่ระดับ 150,718 สัญญา ในระหว่างวันที่ 23 ก.พ. – 1 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยในช่วงดังกล่าวราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 7.9% นับเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. 2015
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการประจำ RCMA Asset Management Pte. ระบุว่า ภาวะอุปทานส่วนเกินของสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมัน และการที่เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จะส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และจะส่งผลกระทบกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อไป ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากที่ราคาสินค้าดังกล่าวจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
“การกลับมาเป็นขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องเกิดจากการที่ GDP ของเศรษฐกิจโลกกลับมาเติบโตอีกครั้ง”หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการประจำ RCMA Asset Management Pte. กล่าว
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในวันนี้ โดยน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 1.5% สู่ระดับ 36.46 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวสูงขึ้น 1.12% สู่ระดับ 39.16 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก Reuters ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวมากขึ้นและมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ได้ช่วยหนุนมุมมองของนักลงทุน ทำให้ตลาดน้ำมันดิบฟื้นตัว
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุว่า อุปสงค์น้ำมันได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อุปทานลดลง โดยแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯลดลงต่อเนื่อง 11 สัปดาห์ และน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2009
นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุว่า นักเก็งกำไรคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัย 1. การปรับลดการลงทุนของบริษัทน้ำมัน 2. การพูดคุยเกี่ยวกับการรักษาระดับการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และ 3. ข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นบ้างเล็กน้อย