ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากที่ฟื้นตัวได้ก่อนหน้านี้ เพราะได้รับแรงกดดันจากข้อมูลดุลการค้าของจีนที่ยังคงอ่อนแอ
นักวิเคราะห์จาก IG กล่าวกับ CNBC ว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นเมื่อไม่นานมานี้มีปัจจัยหลักจากการทำ Short Covering ในหุ้นกลุ่มการเงิน หุ้นกลุ่มวัสดุ และหุ้นกลุ่มพลังงาน และ ณ ขณะนี้หุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลงแล้ว หลังจากข้อมูลยอดดุลการค้าของจีนวันนี้ไม่ส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยยอดส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลง 25.4% ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 13.8% ซึ่งตัวเลขทั้งสองเป็นการปรับตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะยอดส่งออกที่ปรับตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงในวันนี้ เนื่องจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น กดดันหุ้นกลุ่มส่งออก
โดยดัชนี Nikkei ปรับตัวลดลง 0.8% สู่ระดับ 16,783.15 จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ วันที่ 2 มี.ค.
ตลาดหุ้นจีนสามารถปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ได้ หลังจากที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารช่วยดึงให้ดัชนีโดยรวมสามารถกลับมายืนในแดนบวกได้
ดัชนี Shanghai Composite Index ปรับตัวสูงขึ้น 0.1% สู่ระดับ 2,901.39 จุด โดยพลิกกลับมาเป็นบวกได้หลังจากที่ปรับตัวลดลงมากกว่า 2%
ตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวลดลงในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดระมัดระวังการลงทุนมากขึ้นหลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นได้มาก
ดัชนี Hang Seng ปรับตัวลดลง 0.7% สู่ระดับ 20,011.58 จุด ทั้งนี้ดัชนี Hang Seng สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ราว 10% หลังจากที่ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง ในวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งช่วยลดความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย เนื่องจากเข้าใกล้การประชุมของเหล่าธนาคารกลางต่างๆ ทั้ง อีซีบี บีโอเจ และเฟด
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มี.ค. 2559 ธปท.จะแถลงปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) รอบใหม่ โดยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5% หลังจากเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558 ที่ผ่านมาชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าเดิม