หัวหน้าฝ่ายมหภาคและการจัดการสินทรัพย์(Global Macro & Asset Allocation) ประจำ KKR & Co. ระบุว่า จีนกำลังเผชิญกับเหตุการณ์คล้ายกับที่ญี่ปุ่นประสบในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยหากจีนไม่อ่อนค่าเงินหยวนลง จะเผชิญกับภาวะเงินฝืดและเงินทุนไหลออก แต่หากจีนเพิกเฉยกับปัญหาเหล่านี้ เชื่อว่า GDP ของจีนจะชะลอตัวลงมากยิ่งขึ้น
โดย KKR คาดการณ์ว่า มูลค่ายุติธรรม(Fair Value) ของค่าเงินหยวนน่าจะอยู่ที่ 7 หยวน/ดอลลาร์ หรือ อ่อนกว่าระดับปิดเมื่อวานนี้ 7.1% และหากสถานการณ์ไม่ปกติอาจต้องอ่อนค่าเงินหยวนลงไปถึง 7.5%
ทั้งนี้ KKR ระบุว่า จีนไม่จำเป็นต้องอ่อนค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นการส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้แล้วหลังจากที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการอ่อนค่าเงินหยวนน่าจะมีเป้าหมายหลักไปที่การชะลอเงินทุนที่ไหลออกจากจีน โดยปัจจุบันจีนมีเงินทุนไหลออกจากบัญชีทุนมากกว่าเงินไหลเข้าจากดุลบัญชีเดินสะพัดมากอย่างมีนัยสำคัญ
นักวิเคราะห์จาก Reuters ระบุว่า ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า อีซีบี จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก 0.1% และขยายมาตรการ QE เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้กระทบต่อราคาสินทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเทรดเดอร์บางส่วนจึงเตรียมพร้อมสำหรับการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินยูโร หากอีซีบีทำให้ตลาดผิดหวังเช่นเดียวกับเมื่อการประชุมเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 0.36% สู่ระดับ 36.63 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวสูงขึ้น 0.53% สู่ระดับ 39.86 เหรียญ/บาร์เรล
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯจะลดลงจากระดับ 9 ล้านบาร์เรล/วัน ในปัจจุบัน สู่ระดับ 8.19 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2017 ซึ่งช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบ แต่ยังถูกกดดันจากภาวะอุปสงค์ที่ลดลง อุปทานส่วนเกินในตลาดโลก และสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่จากประเทศอิรัก ระบุว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC จะหารือร่วมกันที่กรุงมอสโก ในวันที่ 20 มี.ค. นี้
Moody’s ระบุในรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปี มีบริษัทล้มละลายไปแล้วกว่า 18 บริษัท โดยครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทในธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ โดย 5 รายอยู่ในธุรกิจน้ำมันและแก๊ส 4 รายอยู่ในธุรกิจเหมืองแร่และโลหะ
นักวิเคราะห์จาก Bernstein ระบุว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะยิ่งส่งผลร้ายต่อธุรกิจน้ำมัน