ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเช้านี้ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ทรงตัวบริเวณ 96.18 ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ก่อนที่เฟดจะเริ่มต้นประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้เป็นวันแรก
ด้านค่าเงินยูโรเช้านี้ปรับย่อลงมาเล็กน้อยบริเวณ 1.1157 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1206 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนเช้านี้อ่อนค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 113.90 ดอลลาร์/เยน
สำหรับการประกาศข้อมูลดัชนีราคานำเข้าของสหรัฐฯประจำเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลงน้อยกว่าที่คาดแตะระดับ -0.3%แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เพราะได้รับแรงกดดันจากราคาปิโตรเลียม และราคาสินค้าอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มการปรับตัวลงจะชะลอตัวลงจากทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์ที่เบาบางลง และราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากโซซิเอเต้ เจเนอรัล กล่าวว่า เหล่าเทรดเดอร์จับตาไปยังผลการประชุมเฟดสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่ผ่านมาว่าพวกเขายังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือไม่จากข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า การประชุมเฟดในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เฟดได้แสดงท่าทีว่าต้องการประเมินความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ น่าจะได้เห็นท่าทีของเฟดว่าต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น เนื่องจากในระยะหลังมานี้ มีปัจจัยบวกสู่เศรษฐกิจสหรัฐฯและทำให้ตลาดกลับเข้าสู่มุมมองที่เฟดคาดการณ์มากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯลดน้อยลง
ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างหนักในช่วงเดือน ม.ค. ไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. จากความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ตกต่ำ สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามความกังวลดังกล่าวได้เบาบางลงไป จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีเกินคาด โดยในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯออกมาดีเกินคาดที่ 242,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 4.9%, การใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯเองก็แข็งแกร่งขึ้น โดยในเดือน ม.ค. เติบโตขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 10 เดือน
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ของ Deutsche Bank ระบุว่า ในระยะหลังมานี้ตลาดการเงินกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
ทั้งนี้เฟดมีกำหนดการประชุมในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้
จากผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 40 คน โดย Bloomberg ระบุว่า กว่า 80% คาดการณ์ว่าบีโอเจจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการขยายมาตรการทางการเงิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง และเกือบ 90% คาดการณ์ว่าบีโอเจจะขยายมาตรการทางการเงินภายในเดือน ก.ค. นี้ ทั้งนี้มีนักเศรษฐศาสตร์เพียง 5 ราย (12.5%) ที่คาดการณ์ว่า บีโอเจจะขยายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมในสัปดาห์นี้
นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการในการประชุมสัปดาห์หน้าดูเป็นไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากตลาดการเงินกำลังหาจุดดุลยภาพของมันอยู่ โดย HSBC คาดการณ์ว่ากรณีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือบีโอเจจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินในเดือน ก.ค. นี้ เนื่องจากบีโอเจต้องการระยะเวลาในการพิจารณาผลกระทบจากการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ
ทั้งนี้บีโอเจจะมีกำหนดการประชุมในวันที่ 14-15 มี.ค. นี้
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนในวันเสาร์ที่ผ่านมา พบว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวน้อยกว่าคาดแตะระดับ 5.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวที่สุดในรอบกว่า 7 ปี นับตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2008
ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวได้ 10.2% สู่ระดับ 3.8 ล้านล้านหยวน โดยขยายตัวได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 10%
น้ำมันดิบ WTI ปิด +1.7% ที่ระดับ 38.5 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +0.9% ที่ระดับ 40.39 เหรียญ/บาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากรายงานของ IEA ที่ระบุว่า อุปทานน้ำมันทั่วโลกปรับตัวลงประมาณ 180,000 บาร์เรล/วันในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากกลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตนอกโอเปกต่างลดกำลังการผลิตของตนเองลง
ในคืนวนศุกร์ หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบได้ฟื้นตัวเป็นอย่างมากในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานที่ชะลอตัวลงของอิรัก, ไนจีเรีย, UAE รวมถึงสมาชิกนอกกลุ่มโอเปค ปรับตัวลดลงรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์
“ราคาน้ำมันดิบ อาจผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว” IEA กล่าวในรายงาน