ภาพ : ผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ประจำเดือน มี.ค. โดย Wall Street Journal
ผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 60 คน โดย The Wall Street Journal ประจำเดือน มี.ค. ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (85%) คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกภายในเดือน มิ.ย. ขณะที่มีนักเศรษฐศาสตร์เพียง 3% คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้
ขณะที่ผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 97 คน โดย Bloomberg พบว่า มีนักเศรษฐศาสตร์เพียง 4.12% หรือเพียง 4 คน เท่านั้นที่คาดการณ์ว่าเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในคืนวันนี้
สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า โอกาสที่เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 78% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากการคาดการณ์ว่าการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจจาก CNBC ได้ผลว่าความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละรายมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงยากที่จะหาว่าโดยเฉลี่ยแล้วนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ เมื่อใด ดังรูปด้านล่าง
นักวิเคราะห์จาก DBS Bank ระบุว่า ตลาดไม่เคยผิด แต่ตลาดเปลี่ยนใจตลอดเวลาว่าเฟดจะทำอะไรในปีนี้ โดยในช่วงเดือน ม.ค. นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์ส ชี้ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 2.5 ครั้ง ในปีนี้ แต่ 6 สัปดาห์ถัดมา ตลาดกลับคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้เลย และอีก 6 สัปดาห์ถัดมา ในวันนี้ ตลาดกลับมาคาดการณ์อีกครั้งว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 1.5 ครั้ง
นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs กล่าวว่า ความเสี่ยงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะลดน้อยถอยลงไป และนั่นอาจทำให้ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่อาจมีกรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสถัดไป
นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้แถลงข่าวในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาประจำปี โดยได้กล่าวย้ำถึงเศรษฐกิจของจีนว่าจะไม่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง(Hard-Landing) ตราบเท่าที่รัฐบาลยังเดินหน้าปฏิรูปต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ นาย จอร์จ โซรอส ได้ให้สัมภาษร์ในงาน World Economic Forum เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า จีนจะประสบภาวะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง(Hard-Landing) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยระบุว่าสาเหตุที่ทำให้จีนจะเกิดการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเนื่องมาจากภาระหนี้และเงินทุนไหลออก ขณะที่เศรษฐกิจจีนจริงๆแล้วน่าจะเติบได้ที่ 3.5% จากตัวเลขของทางการที่ 6.8% ในไตรมาส 4/2558
และกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนจะพยายามลดหนี้ของบริษัทเอกชน, พัฒนาการกำกับดูแลภาคการเงิน, และดำเนินมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานอย่างรุนแรง เนื่องจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก และ ถ่านหิน
ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ประกาศเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่าจะอัดฉีดเงิน 1 แสนล้านหยวน หากจำเป็น เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างตามนโยบายของจีนที่ต้องการลดกำลังการผลิตส่วนเกินลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ระบุว่าจะเลิกจ้างแรงงานจำนวนเท่าใด
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า จีนมีแผนที่จะเลิกจ้างแรงงานราว 5-6 ล้านคน ภายในระยะเวลา 2-3 ปีนี้ เพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินและมลภาวะ
ธนาคารกลางจีน เผยว่า มีแผนจะจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือ Tobin Tax เพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก เพื่อปกป้องค่าเงินหยวนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
โดยในระยะแรกอาจตั้งระดับภาษีไว้ที่ 0% เพื่อสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของตลาด
อย่างไรก็ตาม Tobin Tax อาจจะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของจีนในการเป็นสกุลเงินระดับสากลได้ เนื่องจากก่อนหน้าจีนระบุว่าจะเพิ่มบทบาทของตลาดการเงินให้มากขึ้น
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ โดยน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 1.35% สู่ระดับ 36.83 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวสูงขึ้น 0.80% สู่ระดับ 39.05 เหรียญ/บาร์เรล
แหล่งข่าวจาก OPEC ระบุว่า การประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบนำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 เม.ย. โดยที่ไม่มีอิหร่าน โดยมีประเด็นสำคัญคือการคงระดับกำลังการผลิตไว้ให้ไม่มากเกินกว่า เดือน ม.ค.