เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดมีการปรับลดคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 4 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้ง จึงบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดมีความระวังมากขึ้น ท่ามกลางภาวการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และความผันผวนในตลาดการเงิน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดมีการปรับลดคาดการณ์ระดับดอกเบี้ยสำหรับช่วงสิ้นปี 2016 ลง 0.50% สู่ระดับ 0.875% ขณะที่ปี 2017 ปรับลง 0.50% ที่ระดับ 1.88% และในปี 2018 ปรับลดลง 0.38% สู่ระดับ 3.00% สำหรับเป้าหมายระยะยาวนั้นเฟดปรับลดลงสู่ระดับ 3.30% จากการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้ง 0.25% (เป้าหมายเดิม 3.50%)
สำหรับสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ เฟดปรับลดคาดการณ์ลงสู่ระดับ 2.1-2.3% จากคาดการณ์เดิม 2.3-2.5% รวมทั้งปรับลดจีดีพีปี 2016 สู่ระดับ 2.2% (เดิมคาด 2.4%) ขณะที่ 2017 ปรับลงสู่ระดับ 2.1% (เดิมคาด 2.2%) และปี 2018 ปรับลงสู่ 2.0% (คาดเดิม 2.0%)
ขณะเดียวกันก็มีการปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ 1.2% จากคาดการณ์เดิม 1.6% สำหรับอัตราว่างงานนั้น เฟดก็ปรับลดลงมาที่ระดับ 4.7% ในปีนี้ ขณะที่ปี 2016 จะอยู่ที่ระดับ 4.6% และปี 2018 คาดแตะ 4.5%
อย่างไรก็ดี เฟดยังคงมีมุมมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังขยายตัวได้ในระดับปานกลาง แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความผันผวนที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา และมีมุมมองว่าเงินเฟ้อมีโอกาสขยายตัวได้ แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% สำหรับระยะยาว
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยและปรับลดจำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงมาบริเวณ 95.75 ขณะที่ค่าเงินยูโรดีดขึ้นเช้านี้บริเวณ 1.1217 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1105 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนเช้านี้กลับแข็งค่าลงมาบริเวณ 112.71 เยน/ดอลลาร์
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ยังคงชะลอตัวตามคาดที่ระดับ -0.2% ขณะที่ Core CPI ขยายตัวขึ้นเกินคาดแต่ยังทรงตัวระดับเดิม 0.3% โดยดัชนี CPI ยังคงได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ
ขณะที่ข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ พบว่า ยอดการเริ่มสร้างบ้านประจำเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวขึ้น 5.2% หรือเพิ่มขึ้น 60,000 ยูนิต สู่ระดับ 1.18 ล้านยูนิต แต่ยอดอนุมัติก่อสร้างปรับตัวลงเล็กน้อยประมาณ 30,000 ยูนิต สู่ระดับ 1.17 ล้านยูนิต
อย่างไรก็ดี ข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมออกมาแย่ลงเกินคาดแตะระดับ -0.5% ขณะที่ข้อมูลเดิมในเดือนก่อนหน้าปรับทบทวนลงมา 0.8% จากระดับ 0.9% เพราะได้รับแรงกดดันจากการ่วงลงของราคาน้ำมันดิบและผลผลิตภาคสาธารณูปโภค แต่ภาพรวมอุปสงค์ในกลุ่มเครื่องจักรและเหล็กยังคงแข็งแกร่งจึงเป็นปัจจัยที่ช่วยผ่อนคลายภาวะชะลอตัวในภาคการผลิตสหรัฐฯได้
รายงานจาก MKS Group ระบุว่า อังกฤษหั่นคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศลงสู่ระดับ 2% จากเดิมที่ระดับ 2.4%
น้ำมันดิบ WTI ปิด +5.8% ที่ระดับ 38.46 เหรียญ/บาร์เรล ด้านน้ำมันดิบ Brent ปิด +4.1% ที่ระดับ 40.33 เหรียญ/บาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่ EIA เผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปรับขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา